xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอด! แพทย์ มช.พัฒนาการปลูกถ่ายตับสำเร็จมากสุดในประเทศไทย ต่อชีวิตผู้ป่วย “มะเร็งตับ-ตับวาย-ตับแข็ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เผยผลงานการพัฒนาการปลูกถ่ายตับประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทย ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะสุดท้าย โรคตับวายเฉียบพลันรุนแรง และมะเร็งตับที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ให้กลับมามีชีวิตยืนยาวและแทบเป็นปกติทุกอย่าง พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคตับต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ ระบุตับงอกใหม่ได้หลังตัดบริจาคและยังใช้ชีวิตได้ปกติ



คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เผยผลงานการพัฒนาการปลูกถ่ายตับในการรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะสุดท้าย โรคตับวายเฉียบพลันรุนแรง และมะเร็งตับที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี อาจารย์ประจำหน่วยศัลยกรรมระบบตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันการแพทย์ของประเทศไทยมีพัฒนาการก้าวไกลเทียบเท่านานาอารยประเทศ โดยเฉพาะการให้การรักษาผู้ป่วยโรคตับ การปลูกถ่ายตับ ถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายของการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะตับวาย ผู้ป่วยหลายรายรอดชีวิต และสามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อีกครั้ง การปลูกถ่ายตับจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง เสียสละจากทุกๆ ฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริจาคอวัยวะ ผู้ป่วยและครอบครัว ทีมบุคลากรทางการแพทย์ สาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ เช่น ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายตับ วิสัญญีแพทย์ปลูกถ่ายตับ อายุรแพทย์โรคตับ อายุรแพทย์โรคไต กุมารแพทย์โรคตับ รังสีแพทย์ ร่วมให้การรักษา มีการใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีมากมายในการดูแล ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด

ทั้งนี้ การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ คือการผ่าตัดเอาตับเดิมออก แล้วทำการเปลี่ยนตับใหม่แทน โดยตับใหม่ได้มาจาก 2 วิธี ได้แก่ วิธีแรก เมื่อได้รับบริจาคตับจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งปัจจุบันอัตราผู้บริจาคอวัยวะมีน้อย ผู้ป่วยตับวายระยะสุดท้ายจึงเสียชีวิตไปในระหว่างรอรับบริจาคตับเป็นจำนวนมาก วิธีที่สอง รับบริจาคอวัยวะจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต ซึ่งเป็นบุคคลภายในครอบครัว หรือญาติพี่น้องที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด หรือคู่สมรส จะช่วยลดอัตราการตายจากการรออวัยวะของผู้รับบริจาค และลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดลงได้มาก เนื่องจากผู้รับบริจาคอวัยวะสามารถได้ตับมาเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งตับเป็นอวัยวะที่งอกได้ หากตับถูกตัดจะค่อยๆ งอกขึ้นเป็นปกติ โดยทั่วไปแล้วในหนึ่งคนสามารถตัดตับออกไปได้ 60% และอีก 40% สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์

สำหรับปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มช.มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำการปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตให้แก่ผู้ป่วยผู้ใหญ่ (Adult to Adult living donor liver transplantation) โดยมีจำนวนการผ่าตัดมากถึง 15 ราย ซึ่งเป็นจำนวนการผ่าตัดปลูกถ่ายตับที่มากที่สุดในประเทศไทย และผู้ป่วยมีอัตราการอยู่รอดหลังผ่าตัดโดยเฉลี่ยในระยะ 5 ปี มีมากกว่า 80% รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดที่ลดลง และผู้ป่วยหลายรายสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ มช.ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมบริจาคอวัยวะแก่เพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะตับ ที่ผู้บริจาคแล้วยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพื่อต่อชีวิตต่อลมหายใจของผู้ป่วยที่รอความหวัง ถือว่าเป็นทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่สุดแห่งการให้ครั้งสุดท้ายของชีวิต ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5393-6413 และ 09-1851-3391




กำลังโหลดความคิดเห็น