xs
xsm
sm
md
lg

“มารู้จักโรคแบคทีเรียกินเนื้อ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ
ภาควิชาตจวิทยา
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ แค่ได้ยินชื่อก็สงสัยกันแล้ว ว่ามีด้วยหรือ เป็นโรคอะไร น่ากลัวขนาดไหน โรคแบคทีเรียกินเนื้อมีโรคจริง มารับความรู้เกี่ยวกับโรคนี้
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือที่เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า necrotizing fasciitis คือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังของระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการอักเสบแบบมีเนื้อตายที่ผิวหนังตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้าถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคตับแข็ง
การติดเชื้อมักพบหลังการผ่าตัด หรือหลังประสบอุบัติเหตุ ทำให้เกิดแผลและสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อแบคทีเรียที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อย ได้แก่ เชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ ซึ่งบริเวณที่พบการติดเชื้อบ่อย ได้แก่ บริเวณขาและแขน
อัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของผู้ป่วยและบริเวณของการติดเชื้อ ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคตับแข็งจะทำให้มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อรวมถึงจะลุกลามอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น การติดเชื้อที่กว้างหรือลึกมากจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น
ลักษณะอาการที่พบในระยะแรก คือ มีอาการเจ็บปวด บวม แดง ร้อนที่ผิวหนังอย่างมาก หลังจากนั้น อาการบวมแดงจะลามอย่างรวดเร็ว ในบางรายอาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย ต่อมาสีของผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงและมีเนื้อตายเกิดขึ้น เมื่อมีเนื้อตายเกิดขึ้นผู้ป่วยอาจมีอาการชามาแทนที่อาการเจ็บปวดมักมีไข้สูงและมีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อก และมีการทำงานที่ลดลงของอวัยวะต่างๆ เช่น ไต ตับ เป็นต้น
การวินิจฉัยและรักษาในระยะแรกของโรคจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและหายได้ ถ้ามีแผล อาการเจ็บปวด บวม แดง ร้อนที่ผิวหนัง หรือมีไข้ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยทันที โดยผู้ป่วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งการรักษาหลัก คือ การใช้ยาต้านจุลชีพในรูปยาฉีดร่วมกับการผ่าตัด
โดยทั่วไปการดูแลป้องกันและระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบาดแผลที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรค หรือถ้ามีแผลที่ผิวหนัง ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก เพื่อป้องกันการรับเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าสัมผัส หรือประสบอุบัติเหตุ ทำให้เกิดแผลควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ หรือยาฆ่าเชื้อทันที ไม่ควรบ่งด้วยเข็มหรือกรีดเปิดแผลด้วยตนเอง เนื่องจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดจะส่งเสริมการติดเชื้อให้เพิ่มมากขึ้น และถ้ามีแผลบวมแดงอักเสบมากควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
******
กิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา รพ.ศิริราช บริจาค ๙๙๙ บาท ได้รับเข็มกลัดเลข “๙” เป็นที่ระลึก ทำด้วยเงินแท้ชุบทองคำขาวประดับเพชร Cublic Zirconia สลักข้างเข็มว่า “SIRIRAJ” บริจาคสั่งจองตั้งแต่วันนี้-31ตุลาคม 2560 เวลา 09.00-15.00 น. ด้วยตนเองที่ เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ อาคารชัยนาทนเรนทรานุสรณ์ ชั้น 1 รพ.ศิริราช หรือผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงเทพ สอบถามเพิ่มเติมงานประชาสัมพันธ์และกิจการพิเศษ โทร. 0 2419 7646-8 ในวันเวลาราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น