xs
xsm
sm
md
lg

โล่งอก! เครือข่ายปรมาณูฯ ตรวจสารกัมมันตรังสีชิ้นส่วนจรวดส่งดาวเทียมตกใกล้ชายแดนไทย-ลาว พบปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - เจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสี ม.อุบลฯ ในเครือข่ายปรมาณูเพื่อสันติ นำเครื่องเซอร์เวย์มิเตอร์ ตรวจหาสารกัมมันตรังสีจากวัตถุที่เป็นชิ้นส่วนจรวดส่งดาวเทียม ตกที่ อ.โขงเจียม ใกล้ชายแดนไทย-ลาว เบื้องต้นไม่พบมีสารกัมมันตรังสีหรือสารปนเปื้อนอื่นที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์



ความคืบหน้า กรณีมีชาวบ้านในอำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี พบชิ้นส่วนของวัตถุโลหะน้ำหนักเบา แต่มีเนื้อเหนียวกว่าโลหะทั่วไป แตกกระจายตกลงมาจากท้องฟ้าเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา

เบื้องต้นสงสัยเป็นชิ้นส่วนของขยะอวกาศที่ถูกทิ้งลงมา กระทั่งสายวันที่ 16 พ.ย.ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศของไทยเข้าตรวจสอบระบุ เป็นชิ้นส่วนของตัวจรวดใช้ส่งดาวเทียนขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ เศษวัตถุที่พบเป็นทั้งตัวจรวดและส่วนของถังเชื้อเพลิง

ต่อมา รศ.จินตนา เหล่าไพบูลย์ จากศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เครือข่ายปรมาณูเพื่อสันติ นำเครื่องเซอร์เวย์มิตเตอร์ ตรวจหาสารกัมมันตรังสีจากวัตถุที่เป็นตัวจรวดซึ่งตกลงมาในพื้นที่อำเภอโขงเจียม และมีประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ใช้มือหยิบจับสัมผัสวัตถุดังกล่าว กระทั่งทำให้ประชาชนที่ได้สัมผัสโดยตรงกับตัววัตถุเริ่มมีความวิตกกังวลต่อเรื่องดังกล่าว เพื่อตรวจดูระหว่างการส่งจรวดขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลก มีสารกัมมันตรังสีหรือสารปนเปื้อนอื่นที่เป็นอันตรายต่อผู้หยิบจับสัมผัสวัตถุดังกล่าวด้วยหรือไม่ โดยการตรวจวัดค่าครั้งนี้ไม่พบสารปนเปื้อนหรือสารกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์แต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนที่หยิบจับวัตถุดังกล่าวอย่าได้กังวล


พร้อมกล่าวเตือนว่า หากในอนาคตมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น หรือไปพบชิ้นส่วนที่เป็นโลหะพิเศษ ก่อนหยิบหรือจับควรใส่ถุงมือ ไม่ใช้มือไปหยิบหรือจับวัตถุโดยตรง หรือให้มีการปิดล้อมพื้นที่แล้วแจ้งประสานเจ้าหน้าที่รัฐหรือศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีซึ่งเป็นเครือข่ายปรมาณูเพื่อสันติเข้ามาตรวจสอบก่อน

หลังการตรวจสอบหาสารกัมมันตรังสีของศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายบุญชุบ บุ้งทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ Gistda ได้นำชิ้นส่วนสำคัญ เช่น กล่องควบคุมการทำงานอัตโนมัติ ชิ้นส่วนโลหะที่มีรหัสหมายเลขประจำตัว และชิ้นส่วนที่คาดว่าจะเป็นถังเชื้อเพลิงไปตรวจสอบหาที่มา โดยคาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จะทราบว่าเป็นจรวดของชาติใด


กำลังโหลดความคิดเห็น