xs
xsm
sm
md
lg

รู้แล้ว วัตถุปริศนาตกจากฟ้าชายแดนไทย-ลาว ผู้เชี่ยวชาญอวกาศชี้เป็นจรวดส่งยานขึ้นสู่วงโคจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศของไทยเข้าตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยเป็นขยะอวกาศที่ตกลงมาบริเวณชายแดนไทย-ลาวใน จ.อุบลฯ เบื้องต้นระบุเป็นตัวจรวดใช้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ เศษวัตถุที่พบเป็นทั้งตัวจรวดและส่วนของถังเชื้อเพลิงซึ่งไม่มีอันตรายจากกัมมันตรังสี ส่วนเป็นของชาติใดขอนำไปวิเคราะห์ตรวจสอบกับองค์การสหประชาชาติก่อน



สืบเนื่องจากเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. วันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวพรมแดนไทย-ลาวมองเห็นลำแสงพุ่งเป็นทางยาว ก่อนได้ยินเสียงระเบิดกลางอากาศดังเป็นบริเวณกว้างหลายอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งรุ่งเช้าพบเศษโลหะเนื้อดีกระจายเกลื่อนพื้นที่ 4 หมู่บ้านของตำบลนาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และเก็บรวบรวมมอบให้ตำรวจเก็บไว้รอผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ

ความคืบหน้าเมื่อช่วงสายวันนี้ (16 พ.ย.) ที่สถานีตำรวจอำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี นายบุญชุบ บุ้งทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กรุงเทพมหานคร พร้อมคณะได้เข้าตรวจสอบชิ้นส่วนที่พบเมื่อวาน และที่พบใหม่เพิ่มเติมในวันนี้อีก 4 ชิ้น โดย 4 ชิ้นหลังมีความใหญ่และยาวกว่าที่พบเมื่อวาน ชิ้นที่ยาวที่สุดมีความยาวถึง 6 เมตร และในชิ้นขนาดใหญ่มีการพบเลขรหัสของตัวจรวด รวมปัจจุบันพบแล้วทั้งหมด 12 ชิ้น

จากการตรวจสอบ นายบุญชุบกล่าวว่า คาดจะเป็นชิ้นส่วนของจรวดใช้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในชั้นอวกาศ โดยเป็นส่วนของตัวจรวดและถังบรรจุเชื้อเพลิง ส่วนหัวที่เป็นดาวเทียมได้ถูกส่งขึ้นไปในชั้นอวกาศแล้ว สำหรับการตกของจรวดลูกนี้คาดว่ายังไม่ออกไปนอกโลก แต่อยู่ในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตร

เมื่อตัวจรวดตกกลับลงมาด้วยความเร็วจะเกิดแรงเสียดทานกับอากาศ ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ และเกิดเสียงจากแรงกระแทกในรูปแบบของโซนิกบูม เสียงดังที่ได้ยินจึงไม่ใช่เกิดจากการระเบิด แต่เกิดจากแรงกระแทกของวัตถุกับอากาศ ก่อนแตกกระจายออกเป็นชิ้นๆ

สำหรับข้อสงสัยสิ่งที่บรรจุกับตัวจรวดจะมีกัมมันตรังสีหรือไม่ เชื่อว่าไม่มี เพราะเชื้อเพลิงของจรวดที่เป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนเหลว และยังระบุไม่ได้เป็นจรวดใช้ส่งยานอวกาศของชาติใด ต้องตรวจสอบไปยังองค์การสหประชาชาติที่จะมีบันทึกรายละเอียดของการส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรของชาติต่างๆ

ขณะนี้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยก็ได้ประสานขอทราบรายละเอียดถึงทิศทางและวันเวลาที่มีการนำจรวดขึ้นสู่วงโคจรไปแล้ว คาดจะทราบว่าจรวดที่ตกลงมานี้เป็นของชาติใดราว 1 สัปดาห์ข้างหน้า

แต่เบื้องต้นการตกลงมาของชิ้นส่วนจรวดนี้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนหรือตัวของประชาชน ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ชาติที่เป็นเจ้าของจรวดดังกล่าวก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ

นายบุญชุบกล่าวอีกว่า ขอแนะนำประชาชน ถ้าพบเห็นวัตถุสิ่งแปลกปลอมตกลงมาจากชั้นบรรยากาศของโลก ไม่ควรเก็บไว้เอง ควรนำส่งเจ้าหน้าที่ใช้ตรวจหาแหล่งที่มาของวัตถุนั้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเส้นทางของจรวดแต่ละลูกด้วย

สำหรับเศษซากจรวดที่ชาวบ้านนำมามอบให้เจ้าหน้าที่ นายบุญชุบได้คัดเลือกนำไปวิเคราะห์หาสิ่งปนเปื้อนจากอากาศและแหล่งที่มาของจรวดเป็นบางส่วน โดยอีกส่วนได้ให้สถานีตำรวจอำเภอโขงเจียมเก็บรักษาเพื่อรอส่งมอบคืนแก่ประเทศที่เป็นเจ้าของต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น