แพร่ - พ่อเมืองแพร่โดดนั่งล้อมวงคุยชาวบ้านโดยตรง ยอมรับการสื่อสารไม่ดีทำให้ชาวบ้านไม่รู้เรื่องประกาศขอประทานบัตร สั่งให้เริ่มกระบวนการใหม่เพื่อความเป็นธรรมทุกชุมชน จี้อุตสาหกรรมให้เคร่งครัดกฎหมายและเป็นไปตามเจตนารมณ์คนส่วนใหญ่
วันนี้ (10 ต.ค.) กลุ่มตัวแทนชาวบ้าน จากหมู่ 3 หมู่ 5 หมู่ 6 และ หมู่ 11 ต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย จ.แพร่ จำนวน 50 คน นำโดย นายพัสกร เขื่อนพันธ์ ผญบ.หมู่ 11 นายกษิด์ณพิชญ์ มหาธนาทวีโชค แกนนำบ้านปางเคาะ นายอำนวย คลี่ใบ สำนักฮอมบุญอโศก บ้านป่าไผ่ เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ของบริษัทศักดาพรอินดัสตรี จำกัด และ บริษัทเอส พาวเวอร์ ออยล์กรุ๊ป จำกัด โดยได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายเน้ย สมบูรณ์เถกิง นายก อบต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย จ.แพร่ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงพากันมายื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่โดยตรง
หลังจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนมาถึงศาลากลาง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้เชิญชาวบ้านเข้าพบที่ห้องประชุมเวียงโกศัย ในศาลากลางจังหวัดแพร่ โดยนายพงศ์รัตน์ลงนั่งโต๊ะเจรจากับชาวบ้านโดยตรงเพื่อสอบหาข้อเท็จจริง โดยมี นายนิกร ยะกระจาย ป้องกันจังหวัดแพร่ และนายโสภณ สุรภี หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตัวแทนจากอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ เข้าหารือโดยตรง
นายอำนวย คลี่ใบ จากสำนักฮอมบุญอโศก บ้านป่าไผ่ กล่าวว่า ชาวบ้านพบว่าการปิดประกาศการขอสัมปทานที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่นำไปติดไว้ที่บ้านกำนัน ระยะเวลา 20 วัน เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ใช้สิทธิ์โต้แย้งนั้นชาวบ้านเพิ่งทราบเมื่อเวลาของการโต้แย้งเหลือเพียง 2 วันเท่านั้น ประเด็นดังกล่าวน่าจะมีข้อสงสัยว่ากระบวนการของรัฐในการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อความสุขของประชาชนอาจไม่เป็นไปเช่นนั้น และเชื่อว่าผู้นำที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปกปิดข้อมูลจนมีการเปิดให้ทราบเมื่อเหลือเวลาอีก 2 วันเท่านั้น เมื่อชาวบ้านทราบจึงได้รวมตัวกันคัดค้าน ซึ่งเรื่องนี้ในท้องถิ่นคงช่วยอะไรไม่ได้จึงได้พากันมาขอพบผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่
นายกษิด์ณพิชญ์ มหาธนาทวีโชค แกนนำบ้านปางเคาะ กล่าวว่า การขอประทานบัตรครั้งนี้ชาวบ้านไม่ทราบมาก่อนเลย ทั้งๆ ที่ชุมชนรอบป่าสงวนแห่งชาติน้ำพร้าว บ่อแก้ว แม่สูง มีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาป่าไม้ในบริเวณดังกล่าวยังชีพ ทั้งแหล่งน้ำ อาหาร ยารักษาโรค และการทำมาหากินสร้างรายได้ แต่ถ้าเอาป่าผืนนี้ไปทำลายกลายเป็นแหล่งหิน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่จะทำอย่างไร โดยเฉพาะในป่าแห่งนี้อุดมไปด้วยไม้มีค่าและป่าสมุนไพรหายากที่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ไว้ต่อเนื่อง การทำเหมืองจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างแน่นอน
ด้านนายโสภณ สุรภี หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า การขอประทานบัตรดังกล่าวเป็นขั้นตอนของกฎหมาย ได้จดทะเบียนคำขอประทานบัตรที่ 5/2560 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ของบริษัท เอส พาวเวอร์ ออยล์ กรุ๊ป จำกัด ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นหินบะซอลต์เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ทำการรังวัดและการไต่สวนประกอบคำขอไปแล้ว ซึ่งในการไต่สวนไม่พบว่ามีการทำลายสิ่งแวดล้อมใดๆ ในพื้นที่ 100 ไร่ 2 งาน 98 ตารางวา เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย มาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการใช้สิทธิ์โต้แย้งได้ภายใน 20 วัน และแจ้งให้เจ้าพนักงานทราบภายใน 40 วัน
นายนพพร ศักดาพร ประธานกรรมการ บริษัท ศักดาพรอินดัสตรี จำกัด กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นแนวทางการหาแหล่งหินที่ใช้ในการสร้างทางรถไฟสายเหนือ รองรับความเจริญของประชาคมอาเซียน เป็นการหาแหล่งหินของทางราชการ ซึ่งภาคเอกชนได้เข้ามาให้ความร่วมมือ ซึ่งเรื่องนี้ควรมีการทำความเข้าใจกับชุมชนก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา อย่างไรก็ตาม แหล่งหินที่จะสร้างทางรถไฟนั้นต้องใช้หินที่มีคุณภาพ มีอยู่ในภาคเหนือไม่กี่แหล่ง นอกนั้นต้องขนส่งด้วยระยะทางไกล อาจเป็นปัญหาให้ต้องเพิ่มทุนในการดำเนินการได้
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นความเดือดร้อนของประชาชน โครงการทำเหมืองหินดังกล่าวเป็นแนวทางการพัฒนาของทางราชการที่จะนำหินมาใช้ในกิจการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือ ซึ่งตามที่ชาวบ้านร้องเรียนคือการแจ้งข่าวสารการขอประทานบัตรช้าเกินไป หรือปกปิดจงใจให้ประชาชนไม่รับทราบ
เรื่องนี้ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ทำประกาศใหม่เพื่อให้โอกาสประชาชนได้เข้ามาใช้สิทธิ์โต้แย้งได้เต็มที่ โดยการประกาศใหม่ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ทำการแจ้งข้อมูลให้ชาวบ้านทุกหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้สามารถออกความคิดเห็นและแสดงเจตจำนงต่อโครงการดังกล่าวให้ชัดเจน โดยทางจังหวัดแพร่ยืนยันว่าจะให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด และถ้าเกิดปัญหาอีกให้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบติดต่อกับผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้โดยตรง ทำให้ชาวบ้านพอใจจึงแยกย้ายกันกลับ