เชียงราย - รัฐ เอกชน จับมือมหาวิทยาลัยใหญ่ เดินหน้าวิจัยต่อยอด 10 บ่อน้ำแร่เชียงราย 2 แหล่งน้ำพุร้อนแพร่-น่าน ปั้น “ลานนาเวลเนสส์” สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว เหมือนออนเซนญี่ปุ่น
รายงานข่าวแจ้งว่า สนง.ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชียงราย รวมถึงกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้ร่วมกันจัดงาน “เชียงราย ลานนาเวลเนสส์” ขึ้นที่บริเวณลานทะเลหมอก ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา สาขาเชียงราย ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ (24 ก.ย.) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำพุร้อนไปใช้ในการบริการในธุรกิจสปา และโรงแรม
ดร.ศรชัย มุ่งไทธง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ที่เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า เชียงราย เป็นแหล่งที่มีบ่อน้ำแร่ตามธรรมชาติหลายแห่ง ซึ่งหากมีการศึกษาวิจัยจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และรายได้ของประชากร เช่นเดียวกับออนเซนญี่ปุ่น ดังนั้น ทาง มร.ชร.จึงได้ทุ่มในการวิจัยเรื่องนี้มาต่อเนื่อง และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งคาดหวังว่าจะสานต่อให้มีความยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเชียงราย ปละประมาณ 2.7 ล้านคน สร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละเกือบ 30,000 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มโตขึ้น โดยที่จังหวัดเองมุ่งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านสมุนไพร สุขภาพแ ละประวัติศาสตร์เป็นหลัก
กรณีของแหล่งน้ำพุร้อน และน้ำแร่ที่มีอยู่ในเชียงรายถึง 10 แห่ง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำแร่มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ นอกจากนี้ ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ยังมีที่แพร่ และน่านอีกจังหวัดละ 1 แห่ง รวมทั้งหมด 12 แห่งนั้นก็กำลังจะได้รับการพัฒนาเพื่อให้เข้าสู่นโยบายดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างประเทศนิยมมาก
นายกิตติ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาแม้รัฐจะทุ่มงบประมาณไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อน และน้ำแร่หลายแห่ง แต่ก็ยังไม่มีการเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวร่วมกัน หรือนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำแร่ เพื่อการเป็นถิ่นลานนาสุขภาพ หรือลานนาเวลเนสส์อย่างแท้จริง อย่างมากก็มีเพียงเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะจุด มีการนำน้ำแร่ไปใช้เพื่อต้มไข่ และหน่อไม้
ดังนั้น ทางกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย รวมถึง มร.ชร.จึงได้สนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำแร่ เพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แชมพู สบู่ ครีมทาผิว น้ำดื่ม สมุนไพรประคบ โดยมีการศึกษาดูงาน วิจัย และร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย
ขณะที่ ดร.พีรญา ชื่นวงศ์ รอง ผอ.สำนักส่งเสริมวิชาการ มร.ชร.กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่า น้ำแร่ในเชียงรายสามารถนำมาบริโภคได้โดยตรง และสามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งกำลังเป็นที่นิยม เพราะบางแหล่งอยู่ใต้ท่าอากาศยาน เช่น บ่อน้ำร้อนบ้านโป่งพระบาท ต.บ้านดู่ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเครื่องแล้วไปแช่น้ำแร่-นวดสปาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์
และในอนาคตจะการวิจัยเรื่องการนำโคลนมาใช้ ซึ่งพบมากในแหล่งน้ำแร่ ต.ดอยฮาง อ.เมือง และจะมีการวิจัยด้านลอจิสติกส์ในการนำน้ำแร่ไปใช้ประโยชน์ในสถานประกอบการต่างๆ เช่น โรงแรม สปา เพราะมีปริมาณน้ำแร่ธรรมชาติที่ไหลออกมาไม่มีหมด