จันทบุรี - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาประชุมหารือแนวทางแก้ไขความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก พร้อมลงพื้นที่ดูคูกั้นช้าง และรั้วรังผึ้ง เพื่อลดปัญหาช้างป่าบุกเข้ามาในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน
วันนี้ (20 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแก่งหางแมว อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะได้เดินทางมาประชุมหารือแนวทางแก้ไขความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก โดยมี นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายอยู่ เสนาธรรม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 2 ศรีราชา ทหาร ตำรวจ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้การต้อนรับ และร่วมในการประชุม
สำหรับการประชุมหารือแนวทางแก้ไขความขัดแย้งระหว่างคน และช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกในครั้งนี้ สืบเนื่องจากพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ มีประชากรช้างป่า จำนวน 350 ตัว ออกหากินทั่วภาคตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี มีช้างป่าประมาณ 100 ตัว เข้ามาหากินในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว ก่อให้เกิดปัญหาช้างป่าทำร้ายราษฎร พืชผลทางการเกษตร และทรัพย์สินอื่นๆ ของราษฎร เช่น รถจักรยานยนต์ ท่อน้ำ ได้รับความเสียหาย เป็นต้น
โดยปัญหานี้มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และนับวันจะทวีปัญหามากขึ้น เนื่องจากจำนวนช้างป่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปีๆ ดังนั้น ทำให้ปัญหาคนและช้างป่าจึงเกิดความขัดแย้งกันมาโดยตลอด ทั้งช้างป่าถูกชาวบ้านทำร้าย และชาวบ้านถูกช้างป่าทำร้าย ดังนั้น ในวันนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้มาประชุมร่วมเพื่อหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า ซึ่งกำหนดแผนไว้ 2 ระยะ คือ ระยะสั้น การจัดชุดเฝ้าระวังโดยให้เจ้าหน้าที่บูรณาการร่วมกับผู้นำชุมชน ชรบ.กลุ่มจิตอาสา เฝ้าระวังในแต่ละพื้นที่ที่พบช้างป่าลงมา การจัดทำรั้วกั้นช้าง รั้วรังผึ้ง และรั้วเหล็ก จัดสร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากช้างป่า เป็นต้น ส่วนแผนระยะยาว ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ผลักดันช้างกลับสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งปัจจุบัน สามารถรองรับช้างป่าได้ประมาณ 500 ตัว แต่ขณะนี้มีช้างป่าอาศัยเพียง 30 ตัว จึงสามารถผลักดันช้างที่ออกมาอยู่ในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว เข้าไปอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ได้ทั้งหมด
แล้วเสริมด้วยมาตรการที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1.จัดสร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหารช้าง เช่น โป่งเทียม ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ 2.จัดชุดเฝ้าระวังตามแนวเขตติดต่อระหว่างหมู่บ้านกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ มิให้ช้างออกมาจากเขตป่าอีก เสนอของบประมาณก่อสร้างทางเดิน และที่อยู่ช้าง โครงการพวาโมเดล ก่อสร้างรั้วกั้นช้างตลอดแนวเขตคูกั้นช้าง เป็นต้น ทั้งนี้ หากดำเนินการตามแผนทั้ง 2 ระยะได้ก็จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ก็จะลดน้อยลง และหมดปัญหาไปในที่สุด นอกจากนี้ ให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและปัญหาอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาช้างป่า เช่น ชาวบ้านช่วยเลี้ยงช้าง โดยเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศนำปัญหาเรื่องช้างบรรจุในแผนพัฒนา เพื่อนำปัญหาช้างป่า เป็นปัญหาระดับชาติ มีงบประมาณ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนต่อไป
จากนั้นคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่ดูคูกั้นช้าง และรั้วรั้งผึ้ง ว่า สามารถลดปัญหาช้างป่าบุกเข้ามาในพื้นที่ของชาวบ้าน และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านได้จริง และทำให้ช้างป่า และคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อีกด้วย