ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เปิดกิจกรรม “เดินหน้าประชารัฐ สู่ธนาคารที่ดิน” พร้อมนำร่องมอบหนังสืออนุญาตใช้พื้นที่ชั่วคราวให้ชาวบ้าน 5 ชุมชน “เชียงใหม่-ลำพูน” เพื่อใช้ประโยชน์ทำกิน ผลักดันจัดตั้งธนาคารที่ดิน แก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน
ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้านแพะใต้ หมู่ที่ 7 บ้านแพะใต้ อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน วานนี้ (15 ก.ย.) พล.อ.วิทยา จินตนานุรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พร้อมด้วย นายสถิตพงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และนายสมเจตน์ โรจน์พัฒนากุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการที่ดินรัฐ ร่วมกันเปิดกิจกรรม “เดินหน้าประชารัฐ สู่ธนาคารที่ดิน” ตามโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน
พร้อมกับจัดพิธีมอบหนังสืออนุญาตใช้พื้นที่ชั่วคราวให้แก่ตัวแทนชาวบ้าน 5 ชุมชนนำร่อง ประกอบด้วย ชุมชนบ้านไร่ดง หมู่ที่ 3 (บ้านใหม่ป่าฝาง หมู่ที่ 15) ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านแม่อาว หมู่ที่ 3 ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านแพะใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านท่ากอม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองปลาสะวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน และชุมชนบ้านโป่ง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน เป็นโครงการที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ.ลงมาให้ความช่วยเหลือประชาชนใน 5 ชุมชน ที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินมาเป็นเวลานาน
นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ชุมชนทั้ง 5 ชุมชนดังกล่าวนั้นเป็นชุมชนที่เกษตรกรประสบต่อปัญหาความขัดแย้งในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน พร้อมกับนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการออกโฉนดชุมชน และการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนเกษตรกรและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
ดังนั้น เมื่อทางรัฐบาลได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน โดยมีภารกิจหลักในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนเกษตรกร และผู้ไร้ที่ดินทำกิน
ทั้งนี้ บจธ.จึงได้เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือโดยตั้งเป็นโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหานั้นทาง บจธ.จะเข้ามาเจรจาจัดซื้อที่ดินจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน โดยเกษตรกรในแต่ละชุมชนจะต้องตั้งสหกรณ์ของตนเองขึ้นมา และจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่สมาชิก พร้อมมีเงื่อนไขว่า ที่ดินดังกล่าวสมาชิกของสหกรณ์สามารถทำกินเป็นมรดกตกทอดได้ แต่ไม่สามารถซื้อขาย หรือเปลี่ยนมือได้ ซึ่งทาง บจธ.จะให้สหกรณ์เช่าซื้อที่ดินระยะยาวในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ภายในระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 30 ปี
สำหรับทั้ง 5 ชุมชน ได้จัดตั้งสหกรณ์รองรับเรียบร้อยแล้ว มีทั้งหมด 4 สหกรณ์ คือ บ้านแพะใต้ จัดตั้งสหกรณ์โฉนดชุมชนบ้านแพะใต้ จำกัด บ้านท่ากองม่วง จัดตั้งสหกรณ์โฉนดชุมชนบ้านท่ากอม่วง จำกัด บ้านโป่ง จัดตั้งสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน จำกัด ส่วนบ้านไร่ดง ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์ของบ้านแม่อาว คือ สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนบ้านป่าซาง จำกัด ส่วนความคืบหน้าในการจัดซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิทั้งหมด ประมาณ 809 ไร่ (278 แปลง) ทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว 639 ไร่ (153 แปลง) ใช้งบประมาณในการจัดซื้อประมาณ 109 ล้านบาท ที่เหลืออีก 170 ไร่ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนพื้นที่ในชุมชนบ้านไร่ดง และชุมชนบ้านอาว อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้อนุญาตให้สหกรณ์เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) กล่าวด้วยว่า ในอนาคตเมื่อมีการก่อตั้งธนาคารที่ดินเสร็จสมบูรณ์ เป็นที่คาดหวังกันว่า จะเป็นองค์กรที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินได้มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ช่วยลดปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินอันเนื่องมาจากการจำนอง และการขายฝาก ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน และทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินสูงสุด และเป็นไปตามศักยภาพ