อุบลราชธานี - อึ้ง! สาวอดีตลูกจ้าง ม.อุบลฯ เล่าชีวิตสุดรันทดป่วยเป็นโรคสมองฝ่อ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนคนทั่วไป ต้องอาศัยเงินคนพิการและขายของออนไลน์เลี้ยงชีพ โดยมีรายได้เดือนละประมาณ 2 พันบาท แต่ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูพ่อและลูกวัย 9 เดือนเศษที่มีอาการป่วยตามลำพัง หลังสามีที่เคยเป็นเสาหลักมาเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดใหญ่ในหัวใจแตกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ยอมรับเคยคิดฆ่าตัวตายหนีกรรมแต่มองเห็นหน้าลูกหน้าพ่อตัดใจไปสบายคนเดียวไม่ได้
ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุบลราชธานีรายงานเรื่องราวสุดรันทด ซึ่งถูกเปิดเผยโดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Randekdek Kidshop” ได้เล่าถึงความลำบากและการสู้ชีวิตของตัวแทนจำหน่ายสินค้าสำหรับเด็กในเฟซบุ๊กของตนเองว่า “จากโพสต์ก่อนหน้านี้นะคะ ที่กิ่งเขียนถึงตัวแทนขายในกลุ่ม ชื่อ ตาล ตาลเป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง อาศัยที่จังหวัดอุบลฯ ก่อนหน้านี้ตาลก็แข็งแรงเหมือนคนทั่วๆ ไป แต่หลังจากเริ่มตั้งท้อง โรคทางพันธุกรรมก็แสดงออก นั่นคือ โรคสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวฝ่อ ทำให้แขนและขาไม่มีแรง
โดยเริ่มเป็นตั้งแต่พฤษภาคม 2559 จากนั้นตาลก็อาการหนักขึ้น ไปทำงานไม่ได้ และเดินไม่ได้ หลายครั้งก็อยากจะฆ่าตัวตาย จะได้ไม่เป็นภาระของใคร แต่สามีก็คอยให้กำลังใจเสมอบอกว่าจะดูแลเมีย ลูก และพ่อตา แม่ยายตลอดไป ลูกคลอดเมื่อเดือนธันวาคม ชื่อน้องเฟซ หน้าตาน่าเอ็นดู แต่มีอาการเท้าปุก และผ่านไปเพียง 1 เดือน คือ มกราคม 2560 จู่ๆ สามีของตาลก็เป็นโรคหลอดเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก เป็นโรคใหม่ที่รักษาไม่ได้ เสียชีวิตเฉียบพลัน
สามีตาย แต่สาวพิการ 1 คนต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อลูก และต้องหาเงินเลี้ยงลูก เธอจึงเลือกที่จะเป็นตัวแทนขายสินค้าแม่และเด็ก ไม่ต้องสต๊อกของ แค่เอารูปไปโพสต์ขาย หักส่วนแบ่งกำไรไว้ แล้วโอนทุนให้ร้านส่ง ได้พอมีกำไรมาใช้จ่ายค่านม ค่าแพมเพิร์ส และค่ากิน
ส่วนแม่ของตาลก็อยู่บ้าน คอยดูแลตาล และเลี้ยงน้องเฟซ เพราะตาลไม่มีแรงอุ้มลูก อาบน้ำให้ลูกไม่ได้ ป้อนข้าวลูกก็ไม่เข้าปากเพราะมือสั่น (เวลาโพสต์ขายของ ยังพอจะใช้นิ้วจิ้มๆ มือถือได้ค่ะ)
ส่วนพ่อตาลป่วย เข้าไอซียู ปอดติดเชื้อ ตอนนี้พ่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว แต่กลายเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง ทำงานไม่ได้ กิ่งไปรู้เรื่องเข้าเลยนำมาโพสต์ โดยทั้งหมดเป็นข้อความจากโพสต์ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “Randekdek Kidshop” ซึ่งอาทรต่อเพื่อนมนุษย์ แม้ก่อนหน้านี้จะไม่เคยรู้จักกับตาลสาวพิการที่มีชีวิตอันแสนรันทดคนนี้มาก่อน”
ต่อมาผู้สื่อข่าว พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าค้นหาความจริงที่บ้านเลขที่ 313 บ้านทุ่งนาคำ หมู่ 4 ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านของนางสาวธนิดา หรือตาล ฉันเทียะ อายุ 35 ปี กำลังนั่งเล่นกับเด็กชายรชานนท์ อาจต้น อายุ 9 เดือน ลูกชาย
โดยมีนางมลิวัลย์ ฉันเทียะ อายุ 55 ปี มารดาคอยดูแล นายปัญโญ ฉันเทียะ อายุ 59 ปี สามี ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องเจาะคอ และสมองฝ่อ ไม่สามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้
นางสาวธนิดาเล่าว่า ก่อนหน้านี้ครอบครัวของตนมีฐานะปานกลาง พ่อส่งเสียให้เรียนจนจบปริญญาตรี จากนั้นไปทำงานและมีสามีที่จังหวัดปราจีนบุรี ก่อนจะกลับมาอยู่บ้านดูแลพ่อที่ป่วยเป็นโรคสมองฝ่อ ปอดติดเชื้อ ต้องเจาะคอกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
หลังจากกลับมาอยู่บ้านเมื่อ 5 ปีก่อน ได้สมัครเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กระทั่งเมื่อต้นปี 2559 ตาลได้ตั้งครรภ์ และเมื่อครรภ์มีอายุได้ 4 เดือนเศษเริ่มรับรู้ถึงความผิดปกติทางร่างกาย เพราะเริ่มมีอาการเดินไม่ตรง มือสั่น จึงเข้ารับการรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์นานกว่า 1 เดือน
แพทย์ที่ให้การรักษาได้วินิจฉัยการป่วยของตาลเป็นโรคทางพันธุกรรมสมองส่วนควบคุมฝ่อ ซึ่งเป็นโรคเฉพาะกลุ่มในครอบครัว ยังไม่มียาและวิธีใช้รักษา หากทำได้เพียงการบรรเทาโรคด้วยการกายภาพบำบัดเท่านั้น
ต่อมาก่อนคลอดลูกคนนี้ตาลได้ตัดสินใจลาออกจากงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เนื่องจากรู้สึกเกรงใจที่เวลามีการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ หรืองานอื่นต้องทำนอกสถานที่ คณะที่ตาลทำงานอยู่ด้วยต้องไปจ้างคนมาทำงานแทนเพราะตัวเองไม่สามารถเดินเหินได้สะดวก เมื่อกลับมาอยู่บ้านก็มีสามีเป็นกำลังหลักดูแลตาล พ่อ และแม่
กระทั่งหลังจากตาลคลอดน้องเฟซได้เพียง 1 เดือน สามีก็มาเสียชีวิตอย่างกะทันหันจากโรคเส้นเลือดในทรวงอกแตก ทำให้น้องเฟซมีพ่อเพียงเดือนเดียว และปัจจุบันน้องเฟซก็มีอาการกระดูกขาและเท้าผิดรูป หรือเรียกว่าโรคเท้าปุก ต้องรับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางและใช้เงินในการรักษาจำนวนมาก
แต่ก็เป็นโชคดีของน้องเฟซเพราะมีคุณหมอใจบุญจากกรุงเทพฯ ทราบอาการป่วยได้รับรักษาให้ฟรี โดยคุณหมอจะเดินทางมาดูแลอาการของน้องเฟซตามระยะจนกว่าอาการจะเป็นปกติ
ปัจจุบันทั้งครอบครัวนี้จึงมีผู้ป่วยอยู่ในบ้านถึง 3 คน โดยมีนางมลิวัลย์ ฉันเทียะ มารดาของตาลเป็นผู้ดูแล และมีรายได้จากเงินคนพิการของตาลและพ่อเดือนละ 1,600 บาท ส่วนน้องชายของตาลที่ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานเคลมประกันของบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดก็จะดูแลช่วยเหลือในเรื่องของค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า
เพราะตัวน้องชายเองก็มีภาระต้องไปเช่าบ้านอยู่ในตัวเมืองให้ทำงานได้สะดวก และขณะนี้น้องชายเองก็เริ่มมีอาการมือสั่น ซึ่งเป็นอาการของโรคทางพันธุกรรมนี้เช่นกัน
ทางออกของนางสาวธนิดา หรือตาล หลังสามีเสียชีวิต จึงหารายได้ด้วยการเป็นตัวแทนขายของทางเฟซบุ๊ก บางครั้งลงโฆษณาขายมากๆ ก็ถูกบล็อก ปัจจุบันรับเป็นตัวแทนขายสินค้ากลุ่มของเด็กมาขาย โดยจะบวกราคาขายจากต้นทุนชิ้นละประมาณ 20 บาท มีรายได้จากการขายของจริงๆ ไม่เกินเดือนละ 500 บาท
ตรงข้ามกับค่าใช้จ่ายทั้งค่านมของลูกชายที่ไม่ยอมกินนมแม่ ต้องซื้อนมผง แพมเพิร์สของพ่อ ค่าอุปกรณ์ใช้ดูดเสมหะ ค่าทำแผล ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟรวมกันเดือนละเกือบ 10,000 บาท จึงเป็นภาระที่หนักมาก
ซึ่งนางสาวธนิดา หรือตาล กล่าวว่า บางครั้งก็อยากจะฆ่าตัวตาย เพราะก่อนนี้เคยเป็นเสาหลักให้พ่อ แม่ แต่ต้องกลับกลายมาเป็นภาระให้แม่ต้องเลี้ยงดูอีก แต่เมื่อเห็นหน้าลูก หน้าพ่อที่เลี้ยงดูตัวเองมาจึงไม่อาจจะไปสบายได้เพียงคนเดียว เพราะสามีที่เคยแบกตนไปไหนมาไหนเมื่อตอนที่ตนป่วยก็ยังยอมทำทุกอย่างเพื่อคนในครอบครัว จึงพยายามหาทางดิ้นรนต่อสู้ให้สุดชีวิต
เมื่อถามว่าตอนนี้ตาลต้องการความช่วยเหลืออะไร ก็บอกคงไม่พ้นเรื่องเงินที่นำมาใช้จ่ายในครอบครัว และอยากขอรับเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าทางเฟซบุ๊กกับบริษัทชั้นนำโดยตรง ไม่ต้องมีการสต๊อกสินค้า เพื่อให้สามารถขายสินค้าแล้วหักส่วนต่างที่เป็นกำไรไว้ใช้จ่าย เนื่องจากปัจจุบันสินค้าที่เสนอขายรับต่อกันมาเป็นช่วงๆ ทำให้มีรายได้จากการขายชิ้นละไม่เกิน 20 บาท จึงไม่พอเลี้ยงครอบครัว
อีกสิ่งที่ต้องการเพื่ออนาคตของลูกและน้องชายคือ โรคดังกล่าวนี้มีแพทย์เฉพาะทางที่รู้วิธีการรักษาโรคทางพันธุกรรมนี้หรือไม่ หากมีครอบครัวจะได้รู้วิธีการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อเตรียมใช้รักษาลูก และน้องชายของตนด้วย
สำหรับผู้ใจบุญท่านใดมีความประสงค์ช่วยเหลือครอบครัวของนางสาวธนิดา หรือตาล สามารถบริจาคได้ที่บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาถนนชยางกูร หมายเลขบัญชี 321-0-40435-6 ชื่อบัญชี น.ส.ธนิดา ฉันเทียะ หมายเลขโทรศัพท์ 06-4642-5571 หรือที่เฟซบุ๊กชื่อ Namtarn Nongface https://web.facebook.com/namtarn.nongface
หลังรับทราบเรื่องราวทั้งหมดนักสังคมสงเคราะห์จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานีได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉินให้จำนวน 2,000 บาท เพื่อใช้บรรเทาความเดือดร้อนในขณะนี้ และยังมอบรถเข็นสำหรับคนพิการทดแทนรถเข็นคันเดิมที่ใช้งานมานานในวันเดียวกันด้วย