xs
xsm
sm
md
lg

“24 ชม.แพทย์ไทย” ห้ามป่วย-ห้ามพัก-ห้ามตายนะหมอ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“ทำงาน 24 ชม.บ้าไปแล้ว” โลกออนไลน์จวกยับ..วงการแพทย์ไทย รักษาคนอื่นจนตัวตาย! ตอกย้ำการทำงาน-ใช้ทุนอย่างบ้าคลั่ง ปฏิบัติงานเกิน 24ชม. ล่าสุดสังเวยอีกราย สังคมวิจารณ์ขม “จะต้องสูญเสียบุคลากรหมออีกกี่คน” ร้อนถึงกระทรวงสาธารณสุขวางแนวทางแก้ปัญหาด่วน!




 

“หมอไทย” ซอมบี้ดีๆ นี่เอง!

“หมอไทยทุกคนเขาทำงานเกิน 24 ชั่วโมงมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ เช้าออกตรวจในเวลาราชการ กลางคืนอยู่เวร วันรุ่งขึ้นก็ทำงานต่อ ไม่ใช่คืนไหนอยู่เวร อีกวันได้หยุดพัก เหมือนหลายๆ ประเทศที่เขาเจริญแล้ว อย่างที่หลายต่อหลายท่านเข้าใจกันผิดๆ

น้อง ๆ ที่จบใหม่ ต้องอยู่เวรหนักที่สุด ค่าเวรก็น้อย บางคืนได้หลักร้อยหรือหลักพันต้นๆ สิ่งที่ได้มา ก็แลกกับความเสี่ยง แลกกับร่างกายที่ทรุดโทรมลงทุกวันๆ”

ถ้อยคำตัดพ้อจากเพจดัง “Or No.9 เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด” ถูกเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ หลังมีการพูดถึงกรณีที่ แพทย์สาวจบใหม่ปอดติดเชื้อขณะปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักหน่วง เข้าเวรเกิน 24 ชม. จนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งประเด็นที่ว่านี้ได้กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างร้อนระอุในโลกโซเชียลฯ

โดยก่อนหน้านี้ได้มีเคส “หมอบอล” ซึ่งป่วยระหว่างทำงานใช้ทุน แต่ยังเข้าเวรดูแลผู้ป่วยจนตัวเองเสียชีวิต ด้วยโรคปอดติดเชื้อ จากประเด็นนี้จึงทำให้สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ ถึงมาตรการจัดการเวลาทำงานของแพทย์ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้เกี่ยวข้องควรตั้งกฏระเบียบจริงๆ จังๆ ให้กับเรื่องนี้เสียที

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องการห้ามแพทย์ทำงานเกิน 24 ชม. ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปว่า ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ไม่ควรเกิน 80 ชม.ต่อ สัปดาห์, ระยะเวลาเวรปฏิบัติการไม่ควรเกิน 16 ชม.ต่อเนื่องกัน หรือถ้าระยะเวลาปฏิบัติงานติดต่อกัน 24 ชม. ต้องมีเวลาหยุดพักก่อนอย่างน้อย 8 ชม., การอยู่เวรปฏิบัติงานนอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 7 เวร ต่อเดือน รวมถึงหลังการปฏิบัติงานกะดึกต้องมีเวลาหยุดพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชม.

 
แต่อย่างไรก็ตาม ในข้อกำหนดเรื่องนี้ยังคงเป็นแค่ “แนวทาง” ไม่ใช่ “ข้อบังคับ” ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ สังคมต่างตั้งคำถามว่าข้อกำหนดที่ว่านี้จะเป็นแค่การรักษา “ภาพลักษณ์” ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มากกว่าที่จะเป็นห่วง “สุขภาพและสวัสดิการ” ของหมอหรือไม่?

“น่าเห็นใจมาก เป็นอาชีพที่หนักมาก ขอบคุณสำหรับความเสียสละของคุณหมอทุกท่าน ”

“ทำงานเกินเวลาทุกที่แหละ ไม่มีไม่เกินหรอก staff ยังเกินเลย intern ไม่รอดแน่นอน”

“ทำงานเกิน 24 ชม. กินข้าวไม่เคยตรงเวลา เวลาพักแทบจะไม่มี”

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยเรื่องชั่วโมงการทำงานของหมออินเทิร์นไทยออกมายืนยันอีกด้วยว่า แพทย์เพิ่มพูนทักษะส่วนใหญ่ทั้งที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข ทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าระยะเวลาที่กำหนดให้กับแพทย์ประจำบ้าน มีการอยู่เวรมากกว่าและติดต่อกันยาวนานกว่าซึ่งอาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย
วิจัยเรื่องชั่วโมงการทำงานของอินเทิร์นไทย
ฟังอีกมุม! ต้องเข้าเวรถี่..เพราะหมอขาดแคลน?

สิ่งที่น่าสนใจและยังคงเป็นคำถามของสังคมถึงเรื่องดังกล่าวคือ ความสงสัยที่ว่าเพราะเหตุใดหมอ 1 คนถึงต้องทำงานเข้าเวรอย่างบ้าคลั่งเกิน 24 ชม.หนักหน่วงถึงเพียงนี้ และทางออกของปัญหาที่ว่าจะได้รับการแก้ไขอย่างไรถึงถูกต้อง เพื่อที่ว่าจะไม่มีการสูญเสียบุคลากรคนสำคัญต่ออาชีพที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศอีกต่อไป

ทางทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้ต่อสายตรงไปยัง “กระทรวงสาธารณสุข” เพื่อให้ข้อมูลในการชี้แจงประเด็นดังกล่าวที่ยังเป็นเรื่องแคลงใจของสังคม โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำตอบถึง ปัญหาการเข้าเวรอย่างหนักหน่วงของหมอในปัจจุบันนี้ เป็นเพราะว่าการขาดแคลนบุคลากรที่มีสัดส่วนไม่สมดุลกับภาระงาน

“ถามว่าบุคลากรไม่พอใช่ไหม ก็ใช่ ถึงแม้ว่าหมอสมัยนี้จะเยอะกว่าสมัยก่อน แต่งานและภาระสมัยนี้มันมีเยอะกว่า เรามีสถิติการรับบริการของคนไข้ และการเพิ่มของบุคลากร มันไม่ได้สัดส่วนกัน มันจึงมีปัญหาในเชิงระบบ เรื่องนี้มันต้องแก้ไขปัญหาเป็นระบบไป

การแก้ปัญหาคือ เราต้องหาแพทย์มาบรรจุให้มากที่สุด ต้องมีแพทย์ให้เพียงพอกับปริมาณงาน ประเทศไทยของเราเอง จริงๆ จำนวนแพทย์แต่ละปีบรรจุได้มาก แต่ในขณะเดียวกันก็ลาออกไปมากเหมือนกัน ไป รพ.เอกชนบ้าง ไปเรียนต่างประเทศ ไปเรียนต่อบ้างก็ว่ากันไป
cr.OR No.9 เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด
cr.Pang Nicharat Sawangroj
 
อย่างที่สอง เราพยายามทำให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องการส่งเสริมป้องกัน ถ้าเราทำค่อนข้างดี ประชาชนก็จะมาหาหมอน้อยลง ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพได้เอง สามารถป้องกันโรคอย่างง่ายๆ ได้ เขาก็จะป่วยน้อยลง จุดตัดมันก็จะสมดุลกันพอดี”

เช่นเดียวกับ แพทย์อาวุโสเกษียณอายุ ท่านหนึ่ง ได้ให้สัมภาษณ์กับทางทีมข่าวผู้จัดการ Live ด้วยว่า ปัญหาการเข้าเวรถี่ของแพทย์และการทำงานเกิน 24 ชม. ถือว่ามีมานาน และแน่นอนว่าจะยังคงเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตกอยู่ต่อไป ซึ่งการแก้ปัญหาในเรื่องที่ว่าจะต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรแต่ละแผนก และการเข้ามาแบ่งเบาหน้าที่ของแพทย์อาวุโสจะช่วยได้มาก

“มันอยู่ที่ตัวบุคคลว่าจะจัดการเวลาตรงนี้ยังไง ตามข้อบังคับของแต่ละ รพ.เขามีเวลาของเขาอยู่ แต่ทีนี้บางแห่งการอยู่เวรของแพทย์ มันขึ้นกับจำนวนของแพทย์ด้วย บางแผนกมีจำนวนคนน้อยก็ต้องเข้าเวรถี่ บางแผนกมีจำนวนแพทย์มากก็จะห่าง ขึ้นอยู่กับจำนวนแพทย์แต่ละแผนกที่มีไม่เท่ากัน

การแก้ไขจริงๆ คือต้องเพิ่มจำนวนคนแต่ละแผนก ซึ่งแต่ละแผนกต้องจัดการให้ได้ ไม่งั้นองค์กรหรือ รพ.ก็อยู่ไม่ได้ อีกอย่างคือแพทย์หนุ่มๆ สาวๆ ที่มาอยู่ บางทีมาน้อยคน การเข้าเวรก็จะถี่ ในความคิดเห็นของผมคือ แพทย์อาวุโสจะต้องลงมาช่วยบ้าง ถ้าแพทย์อาวุโสไม่ลงมาช่วย จะทำให้แพทย์หนุ่มเข้างานกันถี่ ทำให้เกิดปัญหาที่ว่านี้”

สาธารณสุขแนะ 4 แนวทางแก้ไข

จากกระแสดรามาโลกออนไลน์ ในประเด็นเรื่องหมอไทยปฏิบัติหน้าที่เกิน 24ชม. ที่ได้กลายเป็นท็อปปิกระดับชาติ ล่าสุดร้อนถึงกระทรวงสาธารณสุข “นพ.โสภณ เมฆธน” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าว พร้อมวางมาตรการแก้ปัญหาในอนาคตไว้หลักๆ 4 แนวทางด้วยกัน

“อย่างแรก มอบผู้ตรวจราชการ นพ.สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการ รพ. ร่วมหารือจัดเวลาทำงานให้เหมาะสมตามสภาพของ รพ. และจำนวนผู้ป่วยหรือปริมาณงาน อย่างที่สอง ให้ผู้อำนวยการ รพ. และผู้บริหารศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษา ดูแลให้คำปรึกษาน้องๆ แพทย์จบใหม่ อย่าให้รู้สึกโดดเดี่ยว ช่วยให้คำแนะนำเมื่อมีปัญหา รวมทั้งร่วมแก้ปัญหา

ส่วนต่อมา ต้องเร่งรัดจัดทำระเบียบช่วยเหลือเบื้องต้นกับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการและเสนอให้มีระเบียบเยียวยาช่วยเหลือ และสุดท้าย การเข้าพัฒนาระบบฉุกเฉินให้มีแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินดูแลในห้องฉุกเฉิน”
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
 
นอกจากเรื่องการเพิ่มจำนวนแพทย์แล้ว สิ่งที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญอีกส่วนคือมาตรฐานการรักษา ที่ต้องตอบสนองความต้องการของสังคมด้านคุณภาพการรักษาให้ได้ ซึ่งถือว่าสร้างความกดดันต่อระบบสาธารณสุข-แพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์จบใหม่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับแพทยสภาดูแลแพทย์กลุ่มนี้เป็นพิเศษ กำหนดให้มีหลักสูตร “แพทย์เพิ่มพูนทักษะ” เพื่อให้แพทย์จบใหม่ทุกคนในประเทศไทยผ่านหลักสูตรนี้เป็นระยะเวลา 1 ปี ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์พี่เลี้ยงและอาจารย์แพทย์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่ตัวแพทย์เองรวมถึงผู้ป่วยด้วย

แม้จะมีการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่วายถูกสังคมตั้งคำถาม ถึงความเป็นไปได้ที่จะยุติปัญหาเรื่องที่ว่านี้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกร้าวออกมา จะเป็นแค่ข้อกำหนดลอยๆ ที่ถูกแขวนไว้ด้วยชีวิตแพทย์อีกหลายชีวิตหรือไม่?

ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น