ศูนย์ข่าวศรีราชา - สมาคมนักธุรกิจเข้าพบนายกเมืองพัทยา และผู้บริหาร รับฟังข้อมูลแผนการรื้อถอนวงเวียนปลาโลมาทำระบบแยกสัญญาณไฟจราจร หลังเกิดกระแสต่อต้านจากภาคสังคม ระบุไม่มีเจตนาแฝง ตัดพ้อไม่ได้เอื้อประโยชน์ห้างดัง เพราะเจตนาทำเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาการจราจรรองรับอนาคต พร้อมเชิญตัวแทน สนข.เปิดผลสำรวจปัญหาจราจรเมืองพัทยา แจงข้อดี ข้อเสีย
กรณีกระแสต้านรื้อ “วงเวียนปลาโลมา” บริเวณพัทยาเหนือ ตามนโยบาแกไข้ปัญาหการจราจร ของเมืองพัทยา นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ได้นำคณะกรรมการบริหารเดินทางเข้าพบ พล.ต.ตอนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และตัวแทนจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ (สนข.) วานนี้ (5 ก.ย.) เพื่อชี้แจงความเป็นมา และผลการศึกษาสถานการณ์ปัญหาการจราจรในเขตเมืองพัทยา หลังเกิดกระแสต่อต้านจากภาคสังคม ในกรณีที่เมืองพัทยามีการประกาศแผนการรื้อถอนวงเวียนปลาโลมา เพื่อจัดทำระบบแยกสัญญาณไฟจราจร โดยภาคสังคมระบุว่า เป็นการทำลายอัตลักษณ์ และการท่องเที่ยว ขณะที่เมืองพัทยา ออกมาระบุว่าแผนงานดังกล่าวเป็นการรองรับปัญหาการจราจรในอนาคตที่มีประสิทธิภาพ พร้อมบรรจุโครงการดังกล่าวลงในแผนด้วยงบประมาณ 6.9 ล้านบาท เพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
พล.ต.ต อนันต์ เปิดเผยว่า การเข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ต้องเข้ามาดูแล และบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการไว้ เช่น ปัญหาน้ำท่วม น้ำเสีย หรือปัญหาขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นปัญหาหมักหมมและกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการอย่างจริงจัง โดยในส่วนของฝ่ายบริหาร และคณะทำงานก็ตั้งใจกันอย่างเต็มที่ โดยทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความโปร่งใส และเพื่อให้เกิดประโยชชน์สูงสุดแก่สังคมอย่างเป็นรูปธรรรม
สำหรับปัญหาการจราจรก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขเช่นกัน เพราะเมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว ขณะที่พื้นที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณถนนพัทยาเหนือ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการเปิดตัวของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ รวมทั้งการเปิดตัวของที่พักอาศัยเป็นคอนโดมิเนียม ขนาดกว่า 40 ชั้น ขณะที่พื้นที่รองรับเดิมอย่าง “วงเวียนปลาโลมา” ที่ใช้งานมานาน ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีปัญหามากนัก แต่หากไม่จัดทำแผนรองรับไว้ในอนาคตก็จะส่งผลกระทบต่อระบบจราจรในภาพรวม และมีผลพวงไปถึงเรื่องของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวด้วย
พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ “วงเวียนปลาโลมา” อยู่คู่กับเมืองพัทยามานาน ดังนั้น การจัดทำระบบสัญญาณไฟจราจรเพื่อแก้ไขปัญหาก็อาจส่งผลกระทบอยู่บ้าง แต่ตามแบบโครงการเดิมก็ไม่ได้ทำการรื้อถอนไปไหน เพียงแต่ย้ายจุดเพื่อให้ระบบทางแยกสมบูรณ์เท่านั้น เพราะวงเวียนในอดีตแม้จะตอบโจทย์ของการแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อนาคตก็คงไม่สามารถรองรับได้อย่างเพียงพอ โดยข้อมูลเหล่านี้เป็นผลมาจากการหารือร่วม และผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการจราจรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ทั้ง เมืองพัทยาเอง และในส่วนของ สนข. รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมจราจรจากมหาวิทยาลัยมหิดล จึงยืนยันได้ว่า โครงการนี้ทำไปเพื่อประโยน์ส่วนร่วม ไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ แอบแฝง โดยเฉพาะกรณีที่กระแสสังคมระบุว่า จัดทำเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อห้าง สรรพสินค้าขนาดใหญ่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สุดท้ายหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบด้วยก็พร้อมยกเลิก เพราะส่วนตัว และฝ่ายบริหารคงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการยกเลิกโครงการ เนื่องจากทำงานอย่างโปร่งใส และเพื่อบ้านเมืองเป็นหลัก
ขณะที่ตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้เข้ามาสำรวจ และศึกษาปัญหาการจราจรในพื้นที่เมืองหลัก 6 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี และพัทยา ตั้งแต่ปี 2559 โดยในส่วนของเมืองพัทยานั้นพบว่าปัญหาการจราจรจะเกิด ขึ้นอย่างหนาแน่นใน 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ วงเวียนปลาโลมา ถนนเลียบชายหาด และปากทางเข้าโรงเรียนมารีวิทย์พัทยา ซึ่งในส่วนของวงเวียนนั้นพบว่ามีปัญหาใน 4 ปัจจัย ได้แก่
1.จุดตัดของทางแยก เนื่องจากผู้ใช้รถใช้ถนนขาดวินัย ไม่เคารพกฎกติกาของการใช้วงเวียน 2.จุดกลับรถ ซึ่งแม้จะแก้ปัญหาปริมาณรถที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่วงเวียน แต่ก็สร้างความลำบากให้แก่ประชาชนที่เดินทางมาจากบ้านนาเกลือ 3.ทางร่วมทางแยก จะเกิดปัญหารถสะสมอย่างหนัก หากเมืองพัทยามีการจัดกิจกรรมบริเวณชายหาด และ 4.ทางข้ามสำหรับคนข้าม ซึ่งในปัจจุบันไม่มีความชัดเจน ทั้งระบบสัญญาณไฟ และทางม้าลาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับวงเวียนปลาโลมาปัจจุบันยังสามารถรองรับปัญหาการจราจรได้ตามปริมาณรถที่เฉลี่ยกว่าวันละ 1.1-1.8 หมื่นคันต่อวัน แต่ในอนาคตคงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพราะความเจริญเติบโตที่มากขึ้น วงเวียนอาจจะไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหา เพราะปัจจุบันหากอยู่ในช่วงเวลาคับขัน หรือมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวระยะเวลาของการติดสะสมของรถจะมีปริมาณสูง ซึ่งเกินมาตรฐานของการรองรับการใช้งาน
สนข.ระบุอีกว่า หากมีความต้องการให้มีการใช้วงเวียนต่อไป ความเป็นไปได้ก็อาจจะมีการขยายพื้นที่ของช่องทางการจราจรจาก 30 เมตร เป็น 50 เมตร หรือดำเนินการจากผลสำรวจแนวทางเลือก 3 รูป แบบ ที่อาจไม่จำเป็นต้องทุบวงเวียนปลาโลมา เพียงแต่การย้ายจุดเหมาะสม คือ 1.จัดทำระบบวงเวียนต่อไป 2.การติดตั้งระบบสัญญาณไฟจราจร 2 ทิศทาง โดยกรณีนี้จะแก้ไขปัญหาได้ดีในเส้นทางถนนพัทยาเหนือ และสาย 2 แต่ยังคงมีปัญหาในเส้นทางจากฝั่งนาเกลือเช่นเดิม และ 3.ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร 3 ทิศทาง ซึ่งกรณีนี้จะทำให้เส้นทางจากฝั่งนาเกลือสามารถเลี้ยวลงถนนสายชายหาดได้ แต่อาจเกิดปริมาณรถสะสมในอีก 2 เส้นทาง แต่ก็จะลดปัญหาอุบัติเหตุ และความเป็นระเบียบได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ คงตอบได้ว่าปัจจุบันวงเวียนปลาโลมายังคงรองรับการจราจรได้แต่ก็คงมีปัญหาในบางช่วงเวลา ขณะที่ในอนาคตระบบสัญญาณไฟจราจรแม้จะติดขัดบ้าง แต่จะสามารถรองรับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายปัญโชติ สอนคม อดีตหัวหน้าฝ่ายสถาปัตยกรรมเมืองพัทยา ผู้ออกแบบวงเวียนปลาโลมา ระบุว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้นคิดว่าไม่มีระบบใดสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรได้แบบ 100% ถ้าระบบ หรือ Network ทั่วเมืองพัทยายังมีปัญหา เพราะการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดก็อาจไปสร้างปัญหาการจราจรในพื้นที่อื่นๆ ได้ สำหรับเมืองพัทยา เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก มองว่าปัญหาการจราจรน่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูท่องเที่ยว หรือการจัดกิจกรรม ซึ่งคงไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าช่วงเวลาไหนจะมีปริมาณรถมากหรือน้อย
ในอดีตเองก็เคยทดลองทำระบบสัญญาณไฟจราจรมาแล้วที่จุดดังกล่าว แต่ก็ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา จึงได้มาจัดทำระบบวงเวียนแทน ดังนั้น การจะรื้อถอนวงเวียนออกแล้วจัดทำระบบสัญญาณไฟจราจรแทน หากมองว่าเป็นเรื่องดีก็คงไม่มีใครคัดค้าน แต่วงเวียนถือเป็นสัญลักษณ์ ดังนั้น หากรื้อออกแล้วการแก้ไขปัญหาไม่สัมฤทธิ์ใครจะรับผิดชอบ แล้วจะนำปลาโลมากลับมาสร้างใหม่หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องกลั่นกรองอย่างละเอียดรอบคอบ
ขณะที่ นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา กล่าวว่าการเข้าพบครั้งนี้เป็นการเข้ามารับฟังข้อมูล และรูปแบบการแก้ไขปัญหาจากเมืองพัทยา โดยในส่วนของสมาคมไม่ได้มีเจตนาเข้ามาคัดค้าน หรือไม่เห็นชอบต่อโครงการ หรือระบุว่า การรื้อถอนวงเวียนปลาโลมาเป็นเรื่องของการเอื้อประโยชน์ให้สถานประกอบการ หรือบุคคลใด เพราะแท้จริงหากเกิดประโยชน์จริงแก่สังคม จากการนำเสนอที่มาจากความตั้งใจจริงของเมืองพัทยา ประชาชนเองก็คงไม่มีปัญหา เพียงแค่เห็นว่า “ปลาโลมา” เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่อยู่มานาน หากจะทำการแก้ไขโดยการคงไว้ของสัญลักษณ์นี้จะได้หรือไม่ และการจัดทำระบบแยกสัญญาณไฟจราจรจะตอบโจทย์ได้หรือไม่เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วนายกเมืองพัทยา สรุปว่า ที่ผ่านมารู้สึกน้อยใจอยู่บ้าง เพราะตั้งแต่เข้ามาก็ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่โดยมองถึงประโยน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ที่ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม จากข้อเสนอของภาคคธุรกิจแลภาคสังคมก็จะนำกรณีดังกล่าวไปหารืออีกครั้งว่าจะมีการปรับรูปแบบอย่างไร เพื่อจัดการปัญหาการจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ แต่คงไว้ซึ่งสัญลักษณ์ของเมืองพัทยาให้คงอยู่ต่อไป เพียงแต่อาจมีการปรับปรุง และพัฒนารูปแบบบ้างเพื่อความเหมาะสม โดยจากนี้ก็จะได้นำผลมาหารือร่วมและรับฟังเสียงจากประชาชนอีกครั้งก่อนดำเนินการตามแผนงานต่อไป