สุรินทร์ - หนุ่มใหญ่ดีกรีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทเอกชนใช้เวลาว่างลงมือทำเกษตรสมัยใหม่ เน้นการจัดการและออกแบบการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ 10 ไร่ประสบผลสำเร็จ เป็นอาชีพหลังจากการเกษียณอายุราชการได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีรายได้หลายหมื่น-แสนบาทเลยทีเดียว
ที่ฟิวชั่นฟาร์ม ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านกระเพอโร ตำบลตาเบา อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งฟาร์มมีนายพิทักษ์ สุภนันทการ อายุ 56 ปี เป็นเจ้าของ มีดีกรีเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ใช้เวลาว่างหรือวันหยุดเดินทางมาทำการเกษตรในที่นาของตน เป็นการทำการเกษตรสมัยใหม่ ในพื้นที่ 10 ไร่
ฟาร์มดังกล่าวมีการวางรูปแบบการจัดการในการทำเกษตรได้อย่างลงตัว มีการปลูกพืชหลากหลายชนิดอย่างเป็นระบบ ทั้งพืชยืนต้นที่ให้ผลผลิตระยะยาวที่กำลังออกผลผลิต เช่น อินทผลัม, ไผ่, มะนาว, มะขามป้อมลูกใหญ่ การปลูกพืชผักที่สร้างรายได้ให้ในแต่ละวัน การเลี้ยงสัตว์ การขุดบ่อเลี้ยงปลา
การทำการเกษตรดังกล่าวเป็นการทำการเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการจัดการและออกแบบที่ทำให้การทำการเกษตรดูง่ายและสวยงาม พร้อมสร้างรายได้อย่างดีให้เกษตรกร ปัจจุบันฟิวชั่นฟาร์มได้รับการสนับสนุนจากหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรสมัยใหม่ อาหารปลอดภัย ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ และผู้ที่จะเกษียณอายุราชการหันมาทำการเกษตรรูปแบบดังกล่าว
นายพิทักษ์ สุภนันทการ เจ้าของฟิวชั่นฟาร์ม บอกว่า ฟิวชั่นฟาร์มมีองค์ประกอบที่ลงตัว สร้างคุณค่าและมูลค่าแล้วเติมได้ไม่จำกัด เราไม่ติดล็อกว่าจะเป็นสวนอะไร แต่เรื่องการจัดการ รูปแบบหรือฟังก์ชันของมันต้องลงตัวและขับเคลื่อนในเชิงศักยภาพของสวน ศักยภาพของการเกษตร
ที่ผ่านมาเราไม่เคยพูดกันถึงเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของการเกษตรในเชิงการสร้างศักยภาพของระบบ ที่มีดีไซน์ ที่มีโมเดล ดังนั้น ฟิวชันจึงเป็นการตอบโจทย์เอาอะไรก็ได้มาลงและลงตัว
นายพิทักษ์กล่าวต่อว่า ที่ตรงนี้มีการออกแบบให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ โดยการวางแผนวางผังที่ดี แล้วเพาะปลูกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน มีน้ำทั้งปี พืชหลักๆ ที่ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวในระยะยาว ซึ่งเรามองไปที่ 4-5 ตัว อย่างแรกคือ อินทผลัม นำเอาพันธุ์ที่ดีมาปลูก ซึ่งจะให้ผลผลิตได้ทั้งปีและระยะยาว ไม่ต่ำกว่า 40 ปีข้างหน้า
ส่วนที่ 2 คือมะขามเปรี้ยวลูกใหญ่ๆ ซึ่งในอนาคตเก็บเกี่ยวได้นาน นำผลผลิตมาแปรรูป สามารถออกแบบเป็นพืชเศรษฐกิจในไร่นาได้ ส่วนที่ 3 คือไผ่ ปลูกให้เยอะ ซึ่งมีประโยชน์มากในระบบการเกษตร และอีกชนิดหนึ่งคือมะขามป้อมลูกยักษ์ ซึ่งน่าจะเหมาะในพื้นที่ภาคอีสาน ในขณะที่พื้นที่ในไร่มีน้ำตลอด
นอกจากพืชที่ปลูกแล้วจะมีการขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไส้เดือน โดยเอาเศษผักมาเลี้ยง เพื่อเอามูลมาทำเป็นปุ๋ย เลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งจะได้ปุ๋ยมาทำเกษตรในไร่จำนวนมาก ซึ่งเราออกแบบให้มีความสะดวกสบาย จะทำให้ที่ดังกล่าวสามารถต่อยอดอะไรได้เยอะในเชิงโมเดล ทั้งเศรษฐกิจ การเกษตร รายได้ ต้องการรายได้เท่าไหร่
ตนเชื่อว่าการเกษตรถ้ามีการออกแบบที่ดีจะเป็นการเกษตรที่น่าสนใจ แล้วทำให้สวยงามก็จะทำให้น่าดู คนเข้ามาสามารถถ่ายรูปอัปเดตลงในเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม หมายความว่าคนรุ่นใหม่จะเริ่มมาสนใจรูปแบบการทำเกษตรในลักษณะนี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับทุกๆ คน สำหรับเกษตรที่มีดีไซน์ มีการออกแบบสมัยใหม่ สุดท้ายอยากให้หันมาทำการเกษตร แล้วใช้คำว่าเกษตรตอบโจทย์ได้ทุกอาชีพ อาชีพไหนก็ทำการเกษตรได้ ทำก่อนเกษียณได้ พืชไหนก็รอได้ขอให้จัดการและออกแบบให้มัน รายได้เศรษฐกิจก็จะตามมา
พื้นที่ที่ตนดำเนินการมีพื้นที่ 10 ไร่ เราออกแบบให้มีกิจกรรมหมุนเวียนตลอดในพื้นที่ 10 ไร่ ออกแบบให้สวย เข้ามาแล้วสะดวกสบาย แต่ละที่มีความหมายเชิงสร้างและสามารถต่อยอดรายได้ได้ทั้งหมด มีร่องน้ำเลี้ยงปลาได้ ปลูกผักได้ เราเก็บผักได้ตลอดเวลา ส่วนต้นไม้ใหญ่เก็บเกี่ยวได้ปีละครั้ง
ทุกอย่างอยู่ที่เราออกแบบ มีน้ำ มีปุ๋ย ระบบทำน้ำหยดจนมีน้ำใช้ได้ตลอด เกษตรลำบากไม่ได้ต้องสบาย ต้องง่าย ต้องทำเงิน สวยงามมีดีไซน์ ไม่งั้นตอบโจทย์ไม่ครบ เมื่อตอบไม่ครบก็จะวนมาที่เดิมคือลำบาก ไม่น่าทำ ไม่น่าสนใจ อยากให้ทุกคนหันมาทำการเกษตร แล้วมองว่าอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่ทุกคนโหยหา แล้วอิจฉาที่อยากจะเป็นเกษตรกร
ระยะเวลาที่ดำเนินการมีการวางแผนดำเนินการมาแล้ว 6 ปี ค่อยๆ ทำเหมือนการทำงานอดิเรก แต่ว่ามีเป้าหมาย มีผัง มีแผน แล้วมีการเติมรายละเอียดลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะเร็วกว่ากำหนด แล้วได้มากกว่ากำหนด
ส่วนรายได้และผลผลิตที่ออกมา เช่น พืชผักที่ปลูกจะเก็บหาสร้างได้ทุกวันหลายหมื่นบาทต่อเดือน โดยวางแผนไว้ว่าเป้าหมายในจำนวน 3 ไร่ที่ทำจะใช้คน 3 คน มีรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ซึ่งการทำเกษตรก่อนเกษียณต้องออกแบบให้เหมาะ หลังจากเกษียณมาแล้วภายใน 3 ปีไม่ต้องใช้เงินเดือนเลยถ้าหากมีการออกแบที่ดี
สำหรับข้อคิดดีๆ สำหรับเกษตรกร ตนคิดว่ารูปแบบหรือโมเดลเดิมคิดว่าเหนื่อย ที่เหนื่อยเพราะทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งการทำการเกษตรต้องคิดเชิงระบบ แล้วต้องออกแบบทั้งระบบเกษตรและการจัดการ ทั้งเรื่องรายได้ที่มาในปัจจุบัน รายจ่ายในอนาคต ที่มาของรายได้เชื่อมโยงมีรายได้อย่างไรบ้าง ต้องทำให้ระบบการเกษตรเชื่อมโยงกับผู้ชมได้ มาแล้วเกิดประสบการณ์ที่ดี
นั่นคือโมเดลที่ง่ายๆ จากการทำให้ดีๆ มีการออกแบบ เราไม่ได้สู้กันที่มีมากหรือน้อย ไม่ได้สู้ที่เงินมากเงินน้อย เราต้องมาสู้กันที่วิธีคิดแล้วจัดการให้ลงตัว ของใครของมัน นี้คือฟิวชันที่ตนคิด....การจัดการต้องทำให้ง่าย ถ้าง่ายทำให้เป็นเกษตรสั่งได้ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ และจะลดความสูญเสีย ลดปัญหา เกษตรที่มีปัญหาคือเกษตรที่คุมไม่ได้ นั่นหมายความว่าอยู่กับฝนฟ้า ดังนั้นเราต้องทำให้ง่าย ปลอดภัย