ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ถามตอบคำต่อคำ พิสูจน์ศักดิ์ “เจ้าสร้อยมาลา อินทร์เอี่ยม ณ จำปาสัก” ท่ามกลางข้อครหาเจ้าจริง-เจ้าปลอม หลังสื่อประโคมข่าวเปิดกรุสมบัติโบราณ 6 ชั่วอายุคนขายระดมเงินทำบุญได้แบบต่อเนื่องร่วม 10 ปีไม่รู้จักหมดจักสิ้น จนชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศ
ตลอดช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาชื่อของ “เจ้าสร้อยมาลา อินทร์เอี่ยม ณ จำปาสัก” ดูเหมือนว่าจะโด่งดังเป็นที่รู้จักของผู้คนมากขึ้น ผ่านการนำเสนอข่าวอย่างครึกโครมของสื่อต่างๆ
หลังประกาศตัวเป็น “ผู้สูงศักดิ์ที่สืบทอดเชื้อสายมาจากกษัตริย์องค์สุดท้ายของลาว” ที่ปัจจุบันใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายอยู่ในบ้านพักส่วนตัวที่ ต.หารแก้ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ และเป็นผู้ใจบุญ เปิดกรุมหาสมบัติที่เอ่ยอ้างว่า “เก่าแก่ ล้ำค่า สะสมสืบทอดกันมายาวนาน 6 ชั่วอายุคน” ออกขายนำเงินทำบุญ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา วัดวาอาราม พระสงฆ์ และผู้ยากไร้หลายครั้ง แต่ละครั้งได้เงินตั้งแต่หลักแสน-หลายล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงที่โด่งดังของ “เจ้าสร้อยมาลา” ก็ทำให้เกิดเสียงซุบซิบจากหลายคนที่ตั้งข้อสงสัย และคำถามต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะสถานะความเป็น “เจ้า” ของ “เจ้าสร้อยมาลา” ว่าสืบเชื้อสายมาจากอดีตกษัตริย์องค์สุดท้ายของลาวอย่างไร และจริงหรือไม่..!?
เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการแจกแจงรายละเอียดให้สังคมได้รับรู้อย่างแจ่มแจ้งมาก่อน มีแต่เพียงการยืนยันด้วยคำพูดของ “เจ้าสร้อยมาลา”เท่านั้นว่า เจ้ายายชวด (แม่ของยายทวด) เป็นราชธิดาของเจ้าสุริยะวงศามหาราชแห่งลาว ซึ่งเป็นโอรสของพระไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2077-2115) กษัตริย์ของลาวที่เคยมาครองเมืองเชียงใหม่ ได้มาเป็นชายาของเจ้าพ่อทิพย์ช้าง(พ.ศ. 2217-2302) เจ้าผู้ครองนครลำปาง จากนั้นได้สืบสายเลือดจนกระทั่งมาถึงตัวเองเป็นรุ่นที่ 6
“เจ้าสร้อยมาลา” ยังบอกด้วยว่า ตัวเองเป็นหลานของหลวงปู่เกษม เขมโก หรือ ครูบาเจ้าเกษม เขมโก (พ.ศ. 2455-2539) พระเถระ-พระเกจิอาจารย์ ที่ชาวจังหวัดลำปาง และคนทั่วประเทศเลื่อมใส เนื่องจากเจ้ายายที่ชื่อว่า “เจ้าคำมูลมา” มีศักดิ์เป็นพี่น้องกับหลวงปู่เกษม (แต่บางครั้งมีการบอกว่า เจ้ายาย เป็นชายาของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต (พ.ศ. 2400-2465) เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้ายด้วย ขณะที่หลวงปู่เกษม เป็นเหลนของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต)
ส่วนสถานที่เกิด “เจ้าสร้อยมาลา” บอกว่าตัวเองเกิดที่เชียงตุง เพราะเจ้าตาเป็นเจ้าเมืองแห่งหนึ่งที่เชียงตุง จนกระทั่งถึงวัยที่จะต้องเข้าเรียนจึงย้ายมาประเทศไทยเพื่อเริ่มเรียนชั้นเด็กเล็กที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย เชียงใหม่ กระทั่งจบจึงย้ายไปอยู่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ถึง พ.ศ. 2518 เมื่อลาวมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้ลี้ภัยกลับมาอยู่ประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ “กรุสมบัติ” ที่เจ้าสร้อยฯ นำออกมาขายก็มีการตั้งข้อสงเกตเช่นกันว่า ทำไมมีมากมาย และเป็นของเก่า ของโบราณจริงหรือไม่..!?
เพราะหลายปีที่ผ่านมา “เจ้าสร้อยฯ” มีการเปิดกรุสมบัติออกขายอย่างต่อเนื่อง ทั้งครั้งเล็ก และครั้งใหญ่ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว เพื่อระดมหาเงินนำไปทำบุญ..แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่าสมบัติเก่าแก่ล้ำค่าจากฝั่งลาวของ “เจ้าสร้อยฯ” จะลดน้อยร่อยหรอลงแต่อย่างใด
โดยล่าสุด “เจ้าสร้อยมาลา” ได้ประกาศนำสมบัติ โดยเฉพาะเครื่องเงินโบราณที่ระบุว่าเป็นสมบัติและข้าวของเครื่องใช้ของอดีตกษัตริย์ลาวและราชวงศ์ลาวออกขายอีกครั้ง เพื่อระดมเงินซื้อข้าวสารจำนวน 1,800 กระสอบ มูลค่ากว่าล้านบาท มอบให้คนยากไร้ รวมทั้งถวายให้วัดในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง ทำบุญฉลองวันเกิดของตัวเองครบ 79 ปี ในวันที่ 22 ส.ค. 60 นี้ และเนื่องในวันจุติของพระพิฆเนศ
ซึ่งข้อสังเกตนี้ไม่นับรวมไปถึงความชัดเจนที่ว่าสมบัติมากมายเพียงนี้มีเส้นทางที่มาที่ไปจากลาวเข้ามาสู่ไทยได้อย่างไรโดยไม่ตกเป็นที่จับตา หรือถูกสกัดกั้นขัดขวางในภาวะสถานการณ์ที่มีภัยคุกคาม
หากดูรวมๆ ฟังผ่านๆ เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาการสืบเชื้อสายของเจ้าผู้สืบเชื้อสายกษัตริย์องค์สุดท้ายของลาว และทรัพย์สมบัติมูลค่ามหาศาลแล้ว อาจจะชวนให้ตื่นเต้นและน่าเชื่อได้
แต่หลายคนมองว่า การอ้างอิง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์ของ “เจ้าสร้อยฯ” ดูเลื่อนลอย และขาดความเชื่อมโยงหลายประเด็น ทั้งยังมีเพียงคำพูดกล่าวอ้างเท่านั้น แต่ไร้หลักฐานใดๆ ยืนยัน
ซึ่งตามข้อมูลที่มีการรายงานกันนั้น..ว่ากันว่า แม้แต่คนในสายตระกูล “ณ จำปาสัก” ยังงงงวยกับเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน จนต้องมีการพูดคุย และทำการสืบค้นสายตระกูลกันพัลวัน แต่สุดท้ายก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อของ “เจ้าสร้อยมาลา” อยู่ในสายตระกูลแต่อย่างใด
นอกจากนี้มีข้อสังเกตหนึ่งที่หลายคนตั้งคำถามคล้ายกันคือ หากสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์องค์สุดท้ายของลาวที่ครองราชสมบัติอยู่หลวงพระบาง แล้วเหตุใด “เจ้าสร้อยมาลา” จึงเป็น “ณ จำปาสัก” ที่เป็นคนละสายตระกูลกัน..!?
ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างเกี่ยวกับตัวตนของ “เจ้าสร้อยมาลา” ที่ชวนสับสนอีก เช่น ปี 2552 ที่บรรดาสื่อหลายสำนักประโคมข่าวเปิดตัวของสตรีผู้สูงศักดิ์ และใจบุญคนนี้ “เจ้าสร้อยมาลา” ระบุว่ามีอายุ 64 ปี (อ่านเพิ่มเติม http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9520000022854) ขณะที่ในปี 2560 ที่เตรียมขายสมบัติระดมเงินทำบุญครบรอบวันคล้ายวันเกิดกลับระบุว่าเป็นปีที่มีอายุครบ 79 ปี ทั้งที่ช่วงเวลาห่างกัน 8 ปี แต่อายุกลับเพิ่มขึ้นถึง 15 ปี
แต่ท่ามกลางเสียงซุบซิบที่เต็มไปด้วยข้อสงสัย..ทั้งประเด็น “เจ้าจริง-เจ้าปลอม” รวมถึงที่มาทรัพย์สมบัติ เก่าจริงหรือไม่ !?..ว่ากันว่า “เจ้าสร้อยมาลา” รับรู้ แต่ไม่ได้สนใจที่จะทำความชัดเจนตรงนี้ให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด และดูเหมือนว่าพร้อมจะปล่อยให้มันคลุมเครืออย่างนี้ต่อไป ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “ไม่จำเป็น” และ “เสียเวลาทำบุญ”
**อ่าน คำต่อคำ : เจ้าสร้อยมาลา..เจ้าจริง-เจ้าปลอม..!?