xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่จบ! โคราชเดินหน้าดันยกระดับรางรถไฟทางคู่ แก้ปัญหาเมืองอกแตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ยังไม่จบ! โคราชเดินหน้าดันยกระดับรางรถไฟทางคู่แก้ปัญหาเมืองอกแตก การรถไฟฯ นัดหารือรายละเอียดอีกรอบ 25 ก.ค.นี้

วันนี้ (21 ก.ค.) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงผลการหารือกับ ดร.พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และคณะ เรื่องผลกระทบจากโครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ว่า ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม และคณะได้เปิดโอกาสให้ทางฝ่ายของจังหวัดนครราชสีมา ได้เสนอปัญหา และความห่วงใยของพี่น้องประชาชนชาวโคราช ที่เป็นห่วง และกังวลใจหากมีการก่อสร้างรถไฟรางคู่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา จะทำให้ตัวเมืองโคราชถูกแบ่งออกเสมือนเมืองอกแตก วิถีชีวิตชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในแต่ละวันมียานพาหนะประมาณ 5 หมื่นคัน ต้องสัญจรผ่านจุดตัดถนนทางข้ามรถไฟรวม 15 จุด ทำให้มีต้นทุนการดำรงชีพสูงขึ้นจากการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง รวมทั้งระยะทาง และเวลาเพิ่มขึ้น ฉะนั้นจึงต้องการให้ยกระดับรางรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านเขตตัวเมืองโคราช

อีกทั้งการยกระดับรางรถไฟทางคู่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่การวางท่อ และระบบระบายน้ำลอดผ่านใต้ทางรถไฟ ทำให้น้ำในเขตเมืองไหลลงลำตะคองได้รวดเร็วสะดวกยิ่งขึ้น สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้

ขณะที่ อ.สีคิ้ว หากเป็นไปตามแบบของการก่อสร้างรางรถไฟทางคู่ ชาวบ้านจะต้องไปกลับรถบนเกือกม้าไกลกว่าเดิม ไม่สะดวกในการสัญจร ซึ่งต้องการให้ยกระดับเช่นกัน

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ทางการรถไฟฯ อ้างว่า เคยสอบถามความเห็นโดยการทำประชาคมที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2555 ไปแล้ว ไม่เห็นมีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ทางเรายืนยันว่าได้ทำการคัดค้านตั้งแต่ต้น แต่ทางการรถไฟฯ ไม่รับฟัง และหากจะมีการแก้ไขแบบก่อสร้างตามที่ทางชาวโคราชเสนอนั้น เกรงว่าจะเกิดความล่าช้า ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ทางรัฐบาลปัจจุบันเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งทุกอย่างเดินหน้าไปตามแผนที่วางไว้ โดยได้ทำ TOR ในการจ้างผู้รับเหมาจะแล้วเสร็จปลายเดือน ส.ค.นี้ และจุดที่ตั้งสถานีรถไฟนครราชสีมานี้ ทางการรถไฟฯ จะใช้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาด้วย ฉะนั้นทางการรถไฟฯ ต้องใช้พื้นที่มากพอสมควร และต้องใช้รางบริเวณนี้จำนวนมากด้วยจึงไม่มีทางที่จะก่อสร้างเป็นรางยกระดับ

กรณีดังกล่าวนี้ คณะผู้แทนจากโคราชได้เสนอให้ย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงออกไปอยู่นอกเมือง หรือไปใช้ที่เดียวกับศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา เพราะที่ดินในตัวเมืองมีมูลค่าสูง นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นจะดีกว่า แต่ทางการรถไฟฯ ก็แย้งกลับมาว่า ไม่ได้ออกแบบในส่วนนี้ไว้ และต้องทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ด้วย ซึ่งต้องใช้เวลานาน อาจจะทำให้ล่าช้าออกไปอีก

อย่างไรก็ตาม การหารือในเบื้องต้นถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทางการรถไฟฯ จะได้ทราบปัญหาของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทางการรถไฟฯ ก็มีความจริงใจที่อยากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กังวลใจเรื่องเงื่อนเวลา และงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และเพื่อหาทางออกให้แก่เรื่องดังกล่าวนี้ ทางการรถไฟฯ ได้นัดหารือในรายละเอียดกันอีกครั้งในวันที่ 25 ก.ค.นี้ ที่กระทรวงคมนาคม

กำลังโหลดความคิดเห็น