ลำปาง - รักษาการ สพป.เขต 1 ลำปาง เผยกรรมการสืบข้อมูลเสร็จสิ้นแล้ว รับข้อร้องเรียน ผอ.โรงเรียนดังลำปาง ใช้เงิน ร.ร.มีมูลจริง ชงให้ กศจ.เห็นชอบ ก่อนตั้งกรรมการสอบ ผอ.คนดังต่อทันที ขณะที่ครูต้อยย้ำอยากให้ ผอ.ยุติหน้าที่
วันนี้ (11 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีนางสุรณี กัลยารัตนกุล หรือครูต้อย ครูเกษียณ อดีตเลขานุการส่วนตัวของ ผอ.โรงเรียนดังในตัวเมืองลำปาง ออกมาร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม-สื่อมวลชน กล่าวหา ผอ.โรงเรียนอนุบาลชื่อดังของลำปางรับเงินของทางโรงเรียนโดยไม่ผ่านระบบ และนำไปใช้ส่วนตัว ตลอด 4 ปี (2557-2560) กว่า 42 ล้านบาท พร้อมกับยังทิ้งหนี้สินที่ให้ตนกู้ยืมจากเพื่อนครู-คนรู้จัก แต่ไม่ยอมรับผิดชอบอีกกว่า 10 ล้านบาท
ต่อมานายสมเกียรติ ปงจันตา รอง ผอ.สพป.เขต 1 รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 ได้เชิญครูต้อย และผู้ที่ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนรวม 10 คน เข้าให้ข้อมูล พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ กับคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่ทาง สพป.ตั้งขึ้นมา 3 คน เมื่อ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุดนายสมเกียรติเปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการทั้ง 3 ท่านได้ทำการสืบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น และได้สรุปรายงานข้อมูลทั้งหมดมาให้ตนรับทราบแล้วว่าเรื่องร้องเรียนมีมูลจริง ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างนำรายงานที่ได้รับ เสนอให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) รับรองรายงานดังกล่าวก่อน จากนั้นจึงจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผอ.โรงเรียนคนดังกล่าวต่อไป
ด้านครูต้อย ได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เมื่อทราบข่าวว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้วและได้ระบุว่ามีมูลจริง ตนรู้สึกดีใจ-มั่นใจขึ้นมาก ที่จะได้รับความยุติธรรม และขอขอบคุณนายสมเกียรติ รักษาราชการ แทน ผอ.สพป.ที่ได้ให้ความเมตตา และความเป็นธรรมแก่ตนเอง และผู้เดือดร้อนอีก10 คน เพราะทุกคนต่างฝากความหวังไว้ที่ตน
“แต่เมื่อเรื่องร้องเรียนมีมูลแล้วก็อยากให้ ผอ.คนดังกล่าวหยุดการทำหน้าที่ ผอ.ไปก่อน เหมือนที่เคยเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและได้ข้อมูลอื่นๆเพิ่มขึ้น”
ครูต้อยได้บอกอีกว่า หลังตนเองออกมาร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นยอมรับว่าทางครอบครัวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากหลายคนไม่เข้าใจ พยายามจะให้ตนยุติเรื่องดังกล่าว แต่ตนก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นไม่ว่าตนและคนอื่นๆ ที่เดือดร้อนคงไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้ตนอยากอยู่เงียบๆ เพื่อรอผลการพิจารณาไปก่อน ยังไม่อยากออกสื่อ ที่ผ่านมาก็ได้ไปทำบุญที่วัดหลายแห่งเพื่อให้จิตใจสบายและสงบขึ้น
สำหรับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีขึ้นตามคำสั่ง คสช.ที่19/2560 คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ จากข้อเท็จจริงที่ได้ปรากฏให้เห็นถึงสภาพปัญหาในการจัดการการศึกษาของประเทศในส่วนภูมิภาคทั้งในด้านโครงสร้างขององค์การ ด้านระบบบริหารจัดการ และด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาเยาวชนซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ และกําลังคนที่สําคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนและการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมนานาประเทศ
แม้ที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยการกําหนดมาตรการและกลไกขึ้นโดยมีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมาแล้วหลายฉบับ แต่โดยเหตุที่สภาพปัญหาการจัดการการศึกษาของประเทศ ในส่วนภูมิภาคมีความซับซ้อนและสั่งสมมาเป็นเวลานาน จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการกําหนดมาตรการและกลไกเพิ่มเติมเพื่อให้ปัญหาโดยส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ในการเตรียมการและรองรับการปฏิรูปการศึกษาอันเป็นเรื่องสําคัญเรื่องหนึ่ง ในการปฏิรูปประเทศตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ได้รับความเห็นชอบจากประชามติได้บัญญัติไว้
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ข้อ ๗ ในแต่ละจังหวัด ให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “กศจ.” ประกอบด้วย (1) ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ (2) ศึกษาธิการภาคในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เป็นรองประธานกรรมการ (3) ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้แทน สํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นกรรมการ
(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวนไม่เกินหกคน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนตามข้อ 2 โดยอย่างน้อยต้องมีผู้แทนองค์กร ภาคเอกชน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ และผู้แทนภาคประชาชน ด้านละหนึ่งคน (5) ศึกษาธิการจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ (6) รองศึกษาธิการจังหวัด เป็นผู้ช่วยเลขานุการ กศจ. อาจแต่งตั้งข้าราชการในสํานักงานศึกษาธิการจังหวัดจํานวนไม่เกินสองคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการด้วยก็ได้