เพชรบุรี - อบต.นาพันสาม จัดงานบุญใหญ่เข้าพรรษา ตักบาตรพระบนหลังเกวียนรับเทศกาลเข้าพรรษา ครั้งที่ 2 แห่งเดียวของเมืองไทย
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่วัดนาพรม ต.นาพันสาม อ.เมือง จ.เพชรบุรี ดร.ส.ส.ยุทธพล อังกินันทน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธานพิธีตักบาตรพระบนหลังเกวียนรับเทศกาลเข้าพรรษา ครั้งที่ 2 ที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลนาพันสาม จัดขึ้น
นายประสิทธิ์ รวมสิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาพันสาม กล่าวว่า ปีนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลนาพันสาม จัดงานบุญใหญ่เข้าพรรษาตักบาตรพระบนหลังเกวียนขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมาช้านาน นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวตลาดน้ำนาพันสาม
โดยกำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2560 ณ ตลาดน้ำนาพันสาม วัดนาพรม ซึ่งจะมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต้อนรับเทศกาลเข้าพรรษาให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมกันด้วย เช่น การแสดงกลองยาว การแสดงระบำวัวลาน โดยองค์การบริหารส่วนตำบลนาพันสาม ได้ร่วมกับโรงเรียนวัดนาพรม ประยุกต์ท่าร่ายรำมาจากวัวลาน กีฬาพื้นบ้านของเมืองเพชร ซึ่งระบำวัวลาน ถือเป็นเอกลักษณ์ของตำบลนาพันสาม และเมืองเพชร
สำหรับพิธีแห่เทียนพรรษา มีการแห่เทียนด้วยเกวียนจำนวนกว่า 30 เล่ม โดยเริ่มขบวนตั้งแต่ทางเข้าสามแยกลาดโพธิ์นาพันสาม มายังวัดนาพรม ซึ่งขบวนแห่จะประดับประดาสวยงามมาก จะมีนางเทียน จำนวน 30 คน นั่งบนหลังเกวียน ขบวนจะเป็นไปอย่างคึกคักสวยงาม เริ่มเดินตั้งแต่หน้าสถานีอนามัยนาพรม ถึงวัดนาพรม โดยมีขบวนฟ้อนรำระบำวัวลาน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของตำบลนาพันสาม ฟ้อนต้อนรับอยู่ และมีพิธีตักบาตรพระบนหลังเกวียน โดยนิมนต์พระขึ้นบนเกวียน จำนวน 30 รูป โดยตักบาตรมาตั้งแต่หน้ากุฏิวัดนาพรม จนถึงโบสถ์ใหม่ของวัด
สำหรับประเพณีตักบาตรพระบนหลังเกวียน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวตำบลนาพันสาม ได้เคยทำมาหลายร้อยปี ถือว่าเป็นประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์ ใครได้มาร่วมพิธีตักบาตรพระบนหลังเกวียนจะได้บุญใหญ่ และเพื่อการจะได้ไปสู่สรวงสวรรค์ ผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลนาพันสาม เล่าว่า ในอดีตการคมนาคมไม่สะดวกเหมือปัจจุบัน ในฤดูฝนชาวบ้านจะพายเรือไปมาหาสู่กัน ในฤดูแล้งก็จะใช้เกวียนไปมาหาสู่กัน รวมทั้งเป็นพาหนะของพระในการไปบิณฑบาตในอดีต องค์การบริหารส่วนตำบลนาพันสาม เล็งเห็นคุณค่าของประเพณีตักบาตรพระบนหลังเกวียน จึงได้ฟื้นฟูขึ้นก่อนที่จะเลือนหายไป ประกอบกับปัจจุบันในตำบลนาพันสาม มีชาวบ้านอนุรักษ์เกวียนไว้หลายเล่ม