อ่างทอง - น่าชื่นชม! ลุงวัย 58 ปี ชาวอ่างทอง สืบสานสอนภูมิปัญญาท้องถิ่นการแทงหยวกให้เด็กๆ ในชุมชน สืบทอดวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณ
วันนี้ (2 ก.ค.) ที่บริเวณบ้านเลขที่ 84 หมู่ 5 ต. อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง นายละมูล เมฆกระจาย อายุ 58 ปี ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแทงหยวก ได้ทำการถ่ายทอดวิชาการแทงหยวกกล้วยเป็นลวดลายต่างๆ ให้แก่เด็กๆ ในหมู่บ้านเพื่อถ่ายทอดวิชาสืบสานวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณ ให้เด็กได้เรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพในอนาคต โดยศิลปะการแทงหยวกนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันพบในงานต่างๆ เช่น โกนจุก ตัดจุก รวมทั้งในงานศพ
ด้าน นายละมูล กล่าวว่า ตนเองเป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้รับรางวัลบุษราคัมมณีศรีราชภัฏ ครั้งที่ 13 ปี 2559 สาขาหัตถศิลป์และภูมิปัญญา มีความภาคภูมิใจที่ได้สืบสานการแทงหยวก ที่มีมาแต่โบราณให้ลูกหลานในหมู่บ้าน
ซึ่ง ด.ญ.ณีรนุช นาคประสงค์ อายุ 10 ปี นักเรียนชั้นประถม 5 โรงเรียนวัดป่ามุณี เป็นหลานสาวที่มีความสนใจศึกษาเล่าเรียนการแทงหยวก โดยฝึกสอนได้นาน 2 เดือนแล้ว มีการพัฒนาฝีมืออย่างรวดเร็ว รวมทั้งเด็กๆ ในหมู่บ้านอีกหลายคนที่มีความสนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้ฝึกฝน พร้อมกับครูโรงเรียนวัดป่ามุณี
ด.ญ.ณีรนุช กล่าวว่า ตนเองเห็นการแทงหยวกมาตั้งแต่เด็ก และมีความชอบมาก จึงได้ขอให้นายละมูล ทำการสอนให้มาแล้วประมาณ 2 เดือน ก็ทำการแทงหยวกได้หลายขั้นตอน มีความสนุกและภาคภูมิใจมากที่ได้ทำการสืบสาน และเรียนรู้การแทงหยวก ที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ และจะทำการฝึกฝนเรียนรู้ต่อไปเพื่อเป็นอาชีพเสริมในการสร้างรายได้ ซึ่งในช่วงวันหยุดจะมีเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน รวมทั้งครูที่โรงเรียนวัดป่ามุณี ได้เข้ามาเรียนรู้การแทงหยวก เพื่อเป็นอาชีพ และวิชาเสริมความรู้ สร้างรายได้ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมต่อไป