xs
xsm
sm
md
lg

จ.นครพนมชูสับปะรด-ลิ้นจี่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - พาณิชย์จังหวัดนครพนม จัดอบรม “มาตรฐาน GI ไทนคร โครงการยกระดับและพัฒนาสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กลุ่มจังหวัดสนุกแบบครบวงจรสู่สากล” ชูสินค้าเกษตร สับปะรด และลิ้นจี่ ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา มุ่งเสริมศักยภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล

วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่โรงแรมไอโฮเตล อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นายประทีป ฤทธิกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการอบรมมาตรฐาน GI ไทนคร โครงการยกระดับและพัฒนาสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กลุ่มจังหวัดสนุกแบบครบวงจรสู่สากล ประจำปี 2560 โดยมีหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการ ตลอดจนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครพนม และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมอบรมจำนวนมาก
นายประทีป ฤทธิกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
ทั้งนี้ จังหวัดนครพนม นำสับปะรดท่าอุเทน และลิ้นจี่นครพนม (นพ.1) ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 ทำให้สินค้าทั้ง 2 ชนิด เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งใน และต่างประเทศ โดยสับปะรดท่าอุเทน มีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่อำเภอท่าอุเทน และอำเภอโพนสวรรค์ ลักษณะเปลือกบาง ตาตื้น ผลมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื้อละเอียดแน่น มีสีเหลืองเข้มแกนหวานกรอบรับประทานได้ เนื้อสัปปะรดมีรสชาติหวานฉ่ำ หอม ไม่กัดลิ้นและไม่ระคายคอ

ขณะที่ลิ้นจี่นครพนม นั้นจะมีลักษณะเด่น คือ มีเปลือกสีแดงอมชมพู ผลใหญ่ ทรงรูปไข่ เนื้อผลแห้ง สีขาวขุ่น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด ปลูกในพื้นที่บ้านนาโดน ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมืองนครพนม และเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้า GI ของจังหวัดนครพนม สามารถรักษามาตรฐานตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ไปจนถึงขั้นตอนการจำหน่าย ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ


จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม จึงได้จัดการอบรมมาตรฐาน GI ไทนคร โครงการยกระดับและพัฒนาสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กลุ่มจังหวัดสนุกแบบครบวงจรสู่สากล ประจำปี 2560 ขึ้น มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 100 คน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต และการตลาดสินค้า GI ในจังหวัดนครพนม แนวทางการพัฒนาผลผลิตและการตลาด การสร้างเครือข่ายกระบวนการผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตามวิธีการที่ยอมรับในระดับสากล และนำเอานวัตกรรมมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น