xs
xsm
sm
md
lg

มข.ร่วม ม.แห่งชาติลาวระดมสมองหาทางลดปัญหาประสานงานระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หนองคาย - มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ศึกษาแนวทางเสริมศักยภาพของสองประเทศในการใช้ความเหมือนให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะการหาความเป็นเอกภาพในด้านกฎหมายเพื่อลดปัญหาในการประสานงานระหว่างประเทศ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมโรงแรมอมันตา อ.เมืองหนองคาย รศ.อภิรัตน์ เพ็ชรศิริ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างไทย กับ สปป.ลาว ในมิติทางการค้า เศรษฐกิจ และกฎหมาย ครั้งที่ 2

โดยเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์อาเซียนศึกษา กับคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ซึ่งมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคเอกชนทั้งไทยและลาวร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

รศ.อภิรัตน์ เพ็ชรศิริ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนานโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยชี้แจงว่าธุรกิจที่เหมาะกับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก, อุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจชายแดนที่ต้องมีการตั้งคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจบริการที่หลากหลายเพื่อรองรับการขยายตัว

ที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม เวียงจันทน์-หนองคาย และเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม สะหวันนะเขต-มุกดาหาร โดยนครหลวงเวียงจันทน์ได้กำหนดและจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเฉพาะ 5 แห่ง เน้นด้านการค้าและบริการ 3 แห่ง อุตสาหกรรมแปรรูป 1 แห่ง ท่องเที่ยว 1 แห่ง และอีก 4 แห่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ส่วนสะหวันนะเขต ได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 1 แห่ง และเขตเศรษฐกิจเฉพาะ 1 แห่ง

โดยมีวัตถุประสงค์ด้านการค้าและบริการ และอุตสาหกรรมแปรรูป สปป.ลาวมีความตั้งใจในการดำเนินการในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นอย่างมาก เนื่องจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะสามารถแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน และสามารถช่วยพัฒนาด้านการลงทุนด้านเศรษฐกิจและสร้างงานให้แก่ประชาชนลาว

รศ.อภิรัตน์ เพ็ชรศิริ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย กล่าวอีกว่า การใช้จุดแข็งเสริมศักยภาพของทั้งไทยและลาวด้วยการเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าร่วมกัน โดยที่อาจพบปัญหาเรื่องความแตกต่างกันในเรื่องลัทธิการปกครองของทั้งสองประเทศต่างมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง

ดังนั้นอาจมีความจำเป็นต้องสร้างองค์กรอิสระที่เป็นอิสระจากระบบการเมืองการปกครองของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งการวิจัยเพื่อนำเอารูปแบบที่เหมาะสมนำมาใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างประเทศ ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นทั้งในแง่บวกและแง่ลบ

รวมถึงการกำหนดข้อตกลงทางกฎหมายร่วมกันเพื่อลดความแตกต่างกันในระบบกฎหมาย อำนาจการบริหารเศรษฐกิจพิเศษร่วมและสิทธิของประชาชน โดยการศึกษานี้จะช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสร้างความร่วมมือระดับประเทศในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น