xs
xsm
sm
md
lg

คนหนุ่มสาวเกาหลีใต้หวังเห็นศึกเลือกตั้งปธน.นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางปัญหาศก.-คนตกงานสูงลิ่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ป้ายหาเสียงของศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้
เอเอฟพี - 30 ปีหลังจากเกาหลีใต้เป็นประชาธิปไตย ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ลืมตาดูโลกในช่วงเวลาดังกล่าว จะเดินเข้าคูหาในวันอังคาร(9พ.ค.) ใช้สิทธิ์ใช้เสียงในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี แสดงความผิดหวังต่อโอกาสของพวกเขาและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและตัวเลขคนตกงานสูงลิ่ว

หลายทศวรรษของ "ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน" ตั้งชื่อตามแม่น้ำที่ไหลผ่านกรุงโซล ซึ่งขับเคลื่อนเกาหลีใต้จากซากหักพังแห่งสงครามเข้าสู่ชาติเศรษฐกิจหมายเลข 4 ของเอเชียและเป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(โออีซีดี)

แต่ปัจจุบันผู้มีสิทธิ์ออกเสียงหนุ่มสาวคร่ำครวญด้วยความความขมขื่น จากเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจากยุคสมัยพ่อแม่ของพวกเขา ที่คนรุุ่นนั้นได้รับผลตอบแทนการทำงานหนักด้วยความมั่งคั่งและความสำเร็จโดยไม่แยกแยะต้นกำเนิดทางสังคม

ตัวเลขคนว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 30 ปี เพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ย 2 เท่า

เกาหลีใต้มีชื่อเสียงในฐานะประเทศที่มุ่งความสำเร็จของงาน ซึ่งก่อแรงกดดันหนักหน่วงมากให้ต้องมุ่งเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโด่งดัง ดังนั้นเด็กๆส่วนใหญ่จึงต้องเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนเพิ่มอีกหลายชั่วโมงตั้งแต่อยู่ชั้นประถม

อย่างไรก็ตามสำหรับพวกอายุ 20 ถึง 30 ปี การเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดก็ไม่สามารถรับประกันงานที่ดีอีกต่อไป ด้วยบริษัทต่างๆลังเลที่จะจ้างงานท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งตอนนี้ต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ผลโพลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ ที่สำรวจความคิดเห็นบริษัทขนาดใหญ่ 500 แห่งของประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว พบว่ามีเกือบ 1 ใน 4 ที่บอกว่ามีแผนลดการจ้างงานใหม่หรือจะไม่จ้างงานเพิ่มในช่วงครึ่งปีแรกของปี

นอกเหนือจากที่การเข้าสู่การทำงานของพวกเขาต้องล่าช้ากว่าที่คาดหวังแล้ว เหล่านักศึกษาที่จบปริญญายังต้องใช้เวลาอีกหลายในการหางานทำ

ความเจ็บปวดจากความสิ้นหวังยิ่งสาหัสขึ้นไปอีก จากการขาดแคลนโอกาสเมื่อเทียบกับในอดีต ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น นั่นหมายความว่าคนทำงานอาจไม่ได้รับการปรับตำแหน่งเลย ในประเทศที่มีโครงสร้างทางสังคมไม่ยืดหยุ่นแห่งนี้

ความผิดหวังทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือแรงขับเคลื่อนหนักของการประท้วงใหญ่ต่อต้านคอรัปชันเมื่อปีที่แล้ว ด้วยประชาชนชาวเกาหลัใต้หลายล้านคนออกมารวมตัวกันบนท้องถนนเรียกร้องประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเบ ลาออกจากตำแหน่ง

เธอถูกศาลสูงสุดของประเทศถอดถอนจากตำแหน่งในเดือนมีนาคม อันนำมาซึ่งศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันอังคาร(9พ.ค.) และตอนนี้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในวัย 20 และ 30 ปี ต้องการให้คะแนนเสียงของพวกเขานำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้

"ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้เป็นการนำพามาโดยประชาชน ดังนั้นมันจึงมีความหมายอย่างมาก" อี เกือง อุน นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 22 ปีกล่าว "ศึกเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมาก แต่มันไม่ใช่จุดสิ้นสุด มันเป็นเพียงการเริ่มต้น"

ปกติแล้วประชาชนอายุต่ำกว่า 30 ปี มักออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกลุ่มคนวัยอื่นๆในเกาหลีใต้ แต่ผลสำรวจของกัลลับ โคเรีย พบความน่าประหลาดใจ มีถึง 93 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าจะออกมาเลือกตั้ง"

"พวกวัยรุ่นคือแก่นกลางของผู้ประท้วงต่อต้านนางพัค" คู จอง-วู ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยซองคยุนกวานกล่าว "มันตอกย้ำให้เห็นถึงความโหยหาการเปลี่ยนแปลงระบบที่ไม่ยุติธรรมของสังคม

มูน แจ-อิน ตัวเต็งจากพรรคซ้ายกลาง เดโมแครต ปาร์ตี ซึ่งมีคะแนนนิยมนำหน้าอย่างท่วมท้นในโพลหลายสำนัก ให้สัญญาวางประชาชนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและประกาศสร้างงานใหม่ 810,000 อัตรา ส่วนใหญ่ในภาครัฐ โดย 1 ใน 3 จะจัดสรรให้ผู้สมัครหนุ่มสาว

ส่วน อัห์น ชอย-ซู ให้สัญญาจัดสรรเงินอุดหนุนรายเดือนราว 500,000 วอน(440ดอลลาร์หรือ15,000บาท) แก่ลูกจ้างหนุ่มสาวในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ด ในความพยายามยกระดับให้ทัดเทียมกับค่าจ้างของบริษัทใหญ่

อย่างไรก็ตามมีบางส่วนเคลือบแคลงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยเยียวยาปัญหาพื้นฐานต่างๆได้จริงหรือ "ปัญหาคือไม่มีผู้สมัครคนใดวางทางออกของปัญหาต่างๆอย่างชัดเจนเลย" ฮาห์น เคียว-ซุบ ศาสตราจารย์สาขาวิชาสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น