xs
xsm
sm
md
lg

สอบยิบ นศ.เกษตรฯ หนีฝึกงานฟาร์มเกาหลี ยันโหด-โดนลวนลามจริงไม่ใช่เอ็นดู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ สอบ นศ.เกษตรฯ เชียงราย ต่อวันที่สองแบบละเอียดยิบ หลังหนีฟาร์มฝึกงานโหดซุงจู-เกาหลีใต้ กลับไทยก่อนกำหนด ย้ำใช้งานหนักเช้ายันค่ำ-โดนลวนลามจริงไม่ใช่เอ็นดู คณาจารย์เผย 2 รุ่นแรกไร้ปัญหา แถมได้งานต่อด้วย 1 คน ส่อรื้อโครงการส่งเด็กไปเกาหลีใหม่

วันนี้ (15 มิ.ย.) นายลิขิต มีเสรี ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สอบปากคำนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จ.เชียงราย ซึ่งหนีจากการฝึกประสบการณ์ฟาร์มในเกาหลีใต้ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยฯ กับองค์กร “นิติบุคคล โอลไลฟ์ ประเทศเกาหลี” อย่างละเอียดเป็นวันที่สอง

หลังจากกลุ่มนักศึกษาชาย 5 คน และหญิง 3 คน อายุตั้งแต่ 16-22 ปี ที่ถูกส่งไปหาประสบการณ์ตามโครงการฯ ดังกล่าวเดินทางกลับประเทศไทยก่อนกำหนด และเข้าร้องทุกข์ต่อศูนย์ดำรงธรรมฯ ว่า ถูกส่งไปทำงานหนักเหมือนแรงงานที่ไม่ใช่นักศึกษา และผู้หญิงถูกลวนลาม รวมทั้งยังสงสัยว่ามีการจ่ายเงินค่าแรงงานให้คนอื่น ทั้งๆ ที่เป็นการฝึกประสบการณ์ที่ไม่มีการจ่ายเงิน

ด้านนายเจริญ เชื้อเมืองพาน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย พร้อมคณะอาจารย์ของวิทยาลัยฯ ได้นำสื่อมวลชนเข้าดูรายละเอียดโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-เกาหลี ดังกล่าว ซึ่งองค์กรที่ร่วมมือกับวิทยาลัยฯ ได้พานักศึกษาสร้างโรงเพาะสตรอเบอร์รี 2 โรงใหญ่ มีหลังคาทรงโค้ง และตาข่ายโลหะสำหรับปลูกพืช พร้อมระบบบำรุงรักษาพืชอย่างดี

โดยโรงเพาะสตรอเบอร์รีทั้ง 2 โรงเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2559-2560 ปัจจุบันเก็บผลผลิตได้แล้ว และมีเด็กที่เคยไปฝึกงานในโครงการเดียวกันทำงานอยู่ 1 คน และเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งยังมีนายคัง แดยูน ผอ.นิติบุคคลโอลไลฟ์ และเจ้าของฟาร์มชาวเกาหลีบางคนเดินทางไปดูนานๆ ครั้ง

นายเจริญ และผู้บริหารวิทยาลัยฯ ระบุว่า โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากนิติบุคคลดังกล่าวมีโครงการจะเข้ามาทำแปลงเกษตรในเชียงราย จึงได้ประสานความร่วมมือกับทางวิทยาลัยฯ ในการนำเด็กที่เรียนรู้ด้านการเกษตรอยู่แล้วไปฝึกประสบการณ์ช่วงซัมเมอร์ที่ฟาร์มของตนที่เมืองซุงจู จ.ซุงซองบุกโด ประเทศเกาหลีใต้ โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันระหว่างนิติบุคคลดังกล่าวกับวิทยาลัยฯ รวมถึงสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.เชียงรายด้วย

โดยก่อนจะส่งเด็กนักศึกษาไป ทางผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ คนก่อน, รองผู้อำนวยการ และคณาจารย์รวม 4 คน รวมถึงผู้ประสานงานชาวไทย-เกาหลีได้เดินทางไปดูพื้นที่แล้วพบว่าตั้งอยู่ห่างจากเมืองปูซานประมาณ 600 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงโซลประมาณ 1 วัน

นายเจริญกล่าวว่า ครั้งนั้นมีการไปดูงานสถานที่พัฒนาการเกษตรของหน่วยงานภาครัฐ และดูฟาร์มของเอกชนแล้วพบว่าทันสมัย และสามารถสร้างประสบการณ์ให้นักศึกษาได้ จึงส่งนักศึกษาไปภายใต้ข้อตกลงที่ว่า ฟาร์มที่เกาหลีใต้จะออกค่าเดินทาง-ค่ากินอยู่ของเด็ก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการว่าจ้าง

จากนั้นจึงส่งนักศึกษารุ่นแรกเป็นชายไปก่อน 2 คน ในปี 2558 เป็นเวลา 1 เดือน และรุ่นที่ 2 เป็นชายล้วน 4 คนในปี 2559 เป็นเวลา 2 เดือนกว่า กระทั่งรุ่นที่ 3 กำหนดระยะเวลา 3 เดือน จะครบกำหนดกลับวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เมื่อครบกำหนดแต่ละคนก็จะได้รับทุนการศึกษาคนละ 20,000 บาท แต่ได้เกิดปัญหานี้ขึ้นเสียก่อน

“ยอมรับว่าผมก็ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ทราบข้อมูลจากไลน์กลุ่มนักศึกษาที่ไปฝึกงานร่วมกัน และข่าวจากสื่อ เพราะหลังกลับจากเกาหลีใต้แล้ว นักศึกษายังไม่ได้เดินทางไปยังวิทยาลัยฯ แต่ไปร้องทุกข์ต่อศูนย์ดำรงธรรมแทน”

ซึ่งเมื่อตนทราบเรื่องตั้งแต่เด็กอยู่ที่เกาหลีใต้ จึงรีบแจ้งผู้ประสานงานให้บินไปยังเกาหลีใต้เพื่อแก้ไขปัญหา กระทั่งวันที่ 12 มิ.ย.ก็ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตไทยที่เกาหลีใต้ว่า ได้มีนักศึกษาของเราออกจากฟาร์มชาวเกาหลีไปอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ และอยากจะกลับประเทศไทยแล้ว ตนจึงรีบแจ้งผู้ประสานงาน กระทั่งนายคัง แดยูน ผอ.นิติบุคคลฯ และเจ้าของฟาร์ม ก็รีบบินมาพบตนที่วิทยาลัยฯ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.แล้วบอกว่าพวกเขาไม่สบายใจ และให้เหตุผลว่าไม่ได้ลวนลาม แต่เป็นทำเนียมของชาวเกาหลี เมื่อเอ็นดูเด็กจะโอบกอดกันบ้าง

ส่วนเรื่องเงินค่าจ้าง ได้รับแจ้งจากเจ้าของฟาร์มว่าเด็กๆ ได้สอบถาม แต่เนื่องจากสื่อสารกันด้วยภาษาเกาหลีไม่ได้ เด็กจึงใช้แอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือแปลภาษา แล้วตีความไปว่า เจ้าของฟาร์มได้จ่ายเงินค่าจ้างให้ผู้ประสานงานแล้ว จึงใช้งานพวกเขาได้ ทั้งๆ ที่เจ้าของฟาร์มบอกเพียงว่า “ได้จ่ายค่าเครื่องบิน และดูแลตามโครงการ จึงให้เด็กทำงานในฟาร์มเท่านั้น”

นายเจริญกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในวิทยาลัยฯ 1 ชุด และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ ก็จะตั้งคณะกรรมการมาอีก 1 ชุด ซึ่งก็จะทำให้ได้ข้อเท็จจริงต่อไป เพราะที่ผ่านมามีเพียงคำให้การของเด็กผ่านไลน์

นายเจริญกล่าวอีกว่า แต่หากต้องดำเนินโครงการต่อ ก็ต้องทำรายละเอียดการส่งนักศึกษาไปให้ละเอียด เช่น เรื่องการฝึกภาษา ซึ่งยอมรับว่าระยะเวลาสั้นเพียงแค่ 3 เดือนนั้นกระชั้นชิดเกินไป ทำให้ไม่มีความชัดเจนเรื่องตารางการฝึกงานในแต่ละวัน การใช้ชีวิตของนักศึกษาหญิง ฯลฯ

ด้านนายสุกิจ มาลัยรุ่งสกุล รองผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ ผู้ดูแลโครงการ กล่าวว่า สถานที่ที่เด็กไปฝึกประสบการณ์ตามข้อตกลงมีอยู่ 3 จุด คือ ฟาร์มพืชผักและข้าวอินทรีย์, แปลงสตรอเบอร์รี และฟาร์มโคเนื้อ ซึ่งตนและผู้บริหารได้ไปดูพื้นที่แล้วพบว่า สามารถฝึกประสบการณ์เด็กได้ จึงส่งเด็กไป

ด้านนายวัชรพล สิงหากัน หัวหน้าสาขาวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยฯ กล่าวว่า เด็กรุ่นที่ 1 และ 2 ไม่พบปัญหามากนักเพราะทางนิติบุคคลเกาหลีใต้ได้ส่งคนมาฝึกภาษาให้เด็กก่อนล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน รวมทั้งเป็นผู้ชาย ทำให้ปัญหาไม่ค่อยมีมากนัก และมีนักศึกษาที่ไปฝึกงานรุ่นที่ 2 จำนวน 1 คน ก็ทำงานอยู่ในแปลงเพาะสตรอเบอร์รีดังกล่าวอยู่

ส่วนรุ่นที่ 3 ไม่มีการอบรมเรื่องภาษา จึงอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ซึ่งตนอยากจะพบนักศึกษากลุ่มนี้มาก เพราะสนิทกันดีจะได้สอบถามข้อมูล แต่ก็ยังไม่ได้พบเด็กเลย ได้ติดต่อครั้งล่าสุดผ่านไลน์ตอนที่อยู่ในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่เชื่อว่าจะได้พบเด็กเพราะจะถึงเวลาลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนใหม่ในวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.นี้ ซึ่งทุกคนจะต้องไปลงทะเบียน

น.ส.อัมพร เต๊นคำ นักศึกษาชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 สาขาวิชาพืชศาสตร์ กล่าวยืนยันว่า มีการลวนลามร่างกายจริง โดยตอนอยู่ที่เกาหลีใต้กลุ่มนักศึกษาหญิงส่วนใหญ่จะอยู่ฟาร์มเดียวกัน และมักมีคนในนิติบุคคลดังกล่าวเข้าไปโอบกอดนักศึกษาที่เป็นหญิง ซึ่งแรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะเขาบอกว่าเป็นธรรมเนียมของชาวเกาหลี

แต่เมื่อสังเกตดูชาวเกาหลีก็ไม่เห็นทำกันแบบนี้ นอกจากนี้ เมื่อนั่งรถไปด้วยกันก็มักจะเอามือมาวางตรงขาอ่อน และลูบคลำแบบที่ไม่ใช่เอ็นดู รวมทั้งพยายามมาหาตอนเช้า และกลางคืนแล้วจูบกอด ทำให้พวกตนทนไม่ไหวจึงแจ้งอาจารย์ แต่เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขจึงแจ้งตำรวจเกาหลี และพากันไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยให้ช่วยเหลือกลับบ้าน

“วันที่จะเดินทางกลับเราไม่มีเงินเหลือเลย ต้องเดินเท้าจากมูลนิธิแห่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่พาไปพักไปยังสถานเอกอัครราชทูต ระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร เพื่อจะได้ถูกส่งตัวกลับประเทศไทยด้วย”

ด้านนายสุทิน อนุชิตวรการ นักศึกษา ปวส.ปีที่ 2 สาขาวิชาช่างเกษตร กล่าวว่า พวกตนทำงานตั้งแต่ 07.00-19.30 น. หรือทำงานตั้งแต่เช้ามืดถึงค่ำ ซึ่งถูกใช้งานหนักมาก ทั้งขนของหนักที่เป็นไม้ โลหะ ฯลฯ ไม่ตรงกับสายงานเลย ลักษณะจึงเหมือนเป็นแรงงานไม่ใช่ไปฝึกหาประสบการณ์เลย จึงพากันออกมาขอความช่วยเหลือเพื่อกลับประเทศไทยดังกล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น