เลย - “ไค” สาหร่ายน้ำจืด สุดยอดอาหารโปรตีนที่เกิดขึ้นในแม่น้ำที่มีเกาะแก่ง ชาวบ้านอาฮี ต.อาฮี อ.ท่าลี่ จ.เลย บอกว่าเอามาตากแดดให้แห้งแล้วนำไปย่างไฟ เมื่อกรอบได้ที่ก็บดให้ละเอียด ผสมเกลือนิดหน่อย จิ้มกินกับข้าวเหนียว รสชาติแซบ มีให้กินแค่ 3 เดือนหน้าหนาวเท่านั้น
แม่น้ำเหือง เป็นลำน้ำกั้นพรมแดนระหว่าง จ.เลย กับ สปป.ลาว มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำและพืชผักนานาชนิด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งทั้งสองชาติได้พึ่งพาเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติมาช้านาน
“ไค” พืชน้ำตระกูลสาหร่ายน้ำจืด หรือที่ชาวหลวงพระบางเรียกว่า “ไก” เป็นอาหารธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมนำขึ้นมารับประทาน ซึ่งอุดมด้วยโปรตีนรสชาติคล้ายสาหร่ายเถ้าแก่น้อยขนมยี่ห้อดัง โดยเฉพาะที่บ้านอาฮี ต.อาฮี อ.ท่าลี่ จ.เลย ซึ่งเป็นจุดที่มีไคเกิดขึ้นอยู่มากมาย
โดยสาหร่ายน้ำจืดชนิดนี้มักอยู่ในแม่น้ำที่มีหินเป็นเกาะแก่ง และจะสามารถเก็บขึ้นมารับประทานได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือนในฤดูหนาวที่น้ำลดลงแล้วเท่านั้น
นายเด่นชัย สุมีสี อายุ 67 ปี เล่าว่า การเก็บไคที่เกาะตามโขดหินใต้น้ำขึ้นมาทำได้ไม่ยาก แค่มีตะกร้าแล้วเดินลงไปในแม่น้ำเหือง ท่าน้ำหลังบ้าน เดินลุยน้ำลึกระดับหน้าแข้ง ก้มลงเลือกเก็บไคที่มีลักษณะเป็นเส้นยาวสีเขียวเข้ม เมื่อได้ปริมาณเพียงพอแล้ว ก็นำขึ้นมาตากแดดให้แห้ง หลังจากนั้นก็นำไปย่างไฟ
เมื่อกรอบได้ที่ก็บดให้ละเอียด ผสมเกลือลงไปนิดหน่อยเพื่อเพิ่มรสชาติแล้วใส่กล่องเก็บไว้จิ้มกินกับข้าวเหนียว
นอกจากนั้นยังม้วนใส่ตู้เย็นเก็บไว้ทำกับข้าวได้อีกหลายอย่าง เช่น เอาะ ต้ม แกง แจ่วและชาวบ้านบางคนก็นำไปขายที่ตลาด ห่อละ 20 บาท ส่วนหนึ่งจะมีพ่อค้ามารับไปขายตามตลาดต่างหมู่บ้าน ชาวบ้านบอกว่าในอนาคตอาจมีการรวมกลุ่มกันแปรรูปทำไคแผ่นปรุงรส คล้ายขนมเถ้าแก่น้อยติดยี่ห้อบ้านอาฮี ส่งขายเป็นสินค้าประจำตำบล