xs
xsm
sm
md
lg

รมช.คมนาคม ดูความคืบหน้าการพัฒนาศูนย์กลางขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ที่ ทลฉ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - รมช.คมนาคม นำคณะลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ และการแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย และรางของท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีผลต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า คาดหมดปัญหา ต.ค.นี้

เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (9 ม.ค.) นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะได้เดินทางมายังท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมพร้อมรับฟังรายงานผลการดำเนินการของท่าเรือแหลมฉบัง และความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการก่อสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ก่อนมอบนโยบายในการทำงาน ณ ห้องประชุม 1 อาคารบริหารท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยนายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง คณะผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง คณะผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมให้การต้อนรับ

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับกิจการท่าเรือแหลมฉบัง ว่า มีผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากตัวเลขจำนวนตู้สินค้าที่ขนถ่ายผ่านท่าฯ ตั้งแต่ปี 2557 ที่มีจำนวน 6.4 ล้านทีอียู และขยับเป็น 6.7 ล้านทีอียู ในปี 2558 และในปี 2559 ขยับเป็น 7 ล้านทีอียู โดยเชื่อว่าจะสามารถพุ่งสูงเป็น 10-11 ล้านทีอียูในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ขณะที่วิสัยทัศน์การท่าเรือในประเทศของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในปี 2558-2562 คือ การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและลอจิสติกส์ของอาเซียน ส่วนวิสัยทัศน์การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง คือ การเป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและลอจิสติกส์ของอาเซียน

จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำคณะลงตรวจพื้นที่การก่อสร้างโครงการก่อสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ และโดยโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อดูรูปแบบการก่อสร้างเพื่อจัดหาเครื่องมือให้สามารถรองรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ เส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออกช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง ระยะทาง 78 กิโลเมตร ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ท่าเรือแหลมฉบัง มีขีดความสามารถในการรองรับการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟได้ถึง 2 ล้านทีอียูต่อปี และมีเป้าหมายที่จะบรรทุกและขนถ่ายตู้สินค้าในแต่ละขบวนให้แล้วเสร็จในเวลา 1 ชั่วโมง

ขณะที่ นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า การเดินทางลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังในวันนี้ก็เพื่อติดตามผลการดำเนินงานใน 2 โครงการ รวมทั้งให้นโยบายแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะต้องสอดคล้องต่อนโยบายของภาครัฐ และแผนงานของกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับโครงการอีสเทิร์น อีโคโนมิก คอริดอร์ หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่ให้ความสำคัญต่อการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งแหลมฉบังจะเป็นศูนย์กลางของโครงการนี้ นอกจากนั้น ยังเน้นย้ำในเรื่องการเพิ่มศักยภาพการขนส่งชายฝั่ง และการขนส่งทางน้ำของไทย เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและบริการต่างๆ ให้ถูกลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“วัตถุประสงค์ของการเดินทางมาพูดคุยในวันนี้ ก็คือ การแก้ปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับรางของท่าเรือแหลมฉบัง ที่เดิมมีช่องว่างอยู่ประมาณ 2-3 กิโลเมตรที่ไม่สามารถเชื่อมต่อได้โดยตรง ทำให้การขนส่งสินค้าจากไอซีดี ลาดกระบัง มายังท่าเรือแหลมฉบัง ต้องขนสินค้าจากรถไฟ มาที่รถก่อนลงเรือ ทำให้เกิดต้นทุนสูงมาก ซึ่งการรถไฟฯ และการท่าเรือฯ ก็สามารถแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ดี และจะหมดสิ้นไปในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ คือจะไม่มีการขนส่งสินค้า 2 ครั้งที่สิ้นเปลืองต้นทุนโดยใช่เหตุ” รมช.คมนาคม กล่าว

อนึ่ง โครงการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator หรือ SRTO ตั้งอยู่ในพื้นที่โซน 4 ระหว่างท่าเทียบเรือชุด B และ C มีเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือยกขนหลัก รวมทั้งการบริหารและประกอบการเองภายใต้การตั้งหน่วยธุรกิจ (BU) ของโครงการ ภายใต้งบประมาณลงทุนเกือบ 3 พันล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งลานขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟ (Rail Yard) รางรถไฟ จำนวนหกพวงราง แต่ละรางมีความยาว 1,224-1,434 เมตร ที่สามารถจอดขบวนรถไฟได้รางละ 2 ขบวน รวม 12 ขบวนในเวลาเดียวกัน และจะมีการติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) ซึ่งสามารถทำงานคร่อมรางรถไฟได้ทั้ง 6 ราง ในเวลาเดียวกัน โดยมีเป้าหมายที่จะบรรทุกขนถ่ายสินค้าในแต่ละขบวนได้แล้วเสร็จในเวลา 1 ชั่วโมง





กำลังโหลดความคิดเห็น