อุดรธานี - ทำตามโบราณ! ใช้นกหัสดินเป็นที่รับหีบศพ “หลวงปู่ใหญ่” หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป ด้านประชาชนยังคงเข้ากราบสรีระกันอย่างคับคั่งตลอดทั้งวัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการกราบสรีระสังขารสังขารสรีระสังขารหลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป ณ ศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติ วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมืองอุดรธานี วันนี้ (17 ธ.ค.) เป็นไปอย่างคึกคัก
โดยตลอดทั้งวันที่ศาลายังคงเนืองแน่นไปด้วยพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ คณะพระภิกษุสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ และประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาเดินทางมากราบสรีระสังขาร
ขณะที่การเตรียมงานพิธีศพนั้น วันนี้คณะลูกศิษย์ได้เริ่มตรวจสอบส่วนสำคัญของจิตกาธาน คือ ที่รับหีบศพรูปนกหัสดิน ใช้วางหีบสรีระสังขารบนจิตกาธาน เก็บรักษาไว้ที่โกดังของ นายขัตติยา ไชยเอีย ลูกศิษย์ใกล้ชิด โดยจากการตรวจสอบก็มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
นายขัตติยา ไชยเอีย ลูกศิษย์ใกล้ชิดเปิดเผยว่า ตอนที่หลวงปู่มีแข็งแรงได้ปรารภเกี่ยวกันงานศพของหลวงปู่ และยกเรื่องนกหัสดีลิงค์ขึ้นมา ลูกศิษย์ก็มีแต่บอกว่ายังอีกนาน
จนกระทั่ง นายธเนศ เอียสกุล หรือเสี่ยกิมก่าย จ.หนองคาย มากราบขออนุญาตหลวงปู่สร้างให้ และสร้างเสร็จก็นำมาเก็บรักษาไว้ โดยนกหัสดินนี้ สูง 4 ม. ยาว 6.40 ม. กว้าง 1.80 ม. พื้นที่วางหีบสรีระกว้าง 1.60 ยาว 2.60 ม. สร้างด้วยไม้สักทอง จากฝีมือของ “ช่างอินสอ” จ.เชียงใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตามตำรา “นกหัสดิน หรือนกหัสดีลิงค์ เป็นชื่อนกใหญ่ชนิดหนึ่งในเทวนิยาย อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ รูปตัวส่วนใหญ่เป็นนก เว้นแต่จะงอยปากเป็นงวงอย่างงวงช้าง”
ตำนานกล่าวว่า สมัยโบราณหลายพันปีมาแล้ว ในนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์แห่งนครนั้นถึงแก่สวรรคต ตามธรรมเนียมต้องอัญเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง ในครั้งนั้ นพระมหาเทวี ให้จัดการพระศพตามโบราณประเพณี ได้แห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง
ขณะนั้น มีนกสักกะไดลิงค์ หรือนกหัสดีลิงค์ ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารบินมาจากป่าหิมพานต์ นกได้เห็นพระศพคิดว่า เป็นอาหารของเขา จึงบินโฉบลงมาเอาพระศพจะไปกิน เมื่อพระมหาเทวีเห็นเช่นนั้นก็ประกาศให้คนดีต่อสู้นกหัสดีลิงค์ เพื่อเอาพระศพคืนมา คนทั้งหลายก็อาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ไม่ได้ ถูกนกหัสดีลิงค์จับกินหมด
จากนั้น ธิดาแห่งพญาตักกะศิลา มีนามว่า สีดา จึงเข้ารับอาสาสู้นกหัสดีลิงค์ นางได้ใช้ศรอาบยาพิษยิงจนนกถึงแก่ความตาย แล้วตกลงมาพร้อมพระศพแห่งกษัตริย์ พระมาหาเทวี จึงสั่งให้ช่างทำเมรุ คือหอแก้วบนหลังนกแล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนก แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน
“จากนั้นมา เจ้านายในพระบราชวงศ์ทุกเมืองได้ถือเอาจำลองนกหัสดิน และถือเอาธรรมเนียมเป็นประเพณีสืบทอดต่อมา โดยมักจัดงานศพโดยสร้างรูปนกหัสดีลิงค์ ให้แก่เจ้านายผู้ใหญ่ กับพระเถระผู้ใหญ่ ที่มีบุญญาวาสนาบารมีสูง”