xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจุฬาฯ เตือนรัฐบาลฟังความเห็นท้องถิ่น ประเด็นร่างกฎหมายกระจายอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทีอบรมวิชาการเรื่อง การบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย ที่โรงแรมริมปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์ - เวทีวิชาการบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย ที่ จ.กาฬสินธุ์ “วีระศักดิ์” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนรัฐบาลต้องรับฟังความเห็นประชาชนและผู้บริหารท้องถิ่น ย้ำพิมพ์เขียวประเด็นกระจายอำนาจ มีความแตกต่างในพื้นที่ ชี้หากไม่ระวังอาจจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง

วันนี้ (14 ธ.ค. 59) ที่โรงแรมริมปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ สมาคมเทศบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับสันนิบาตเทศบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และชมรมองค์การบริหารส่วนตำบล จัดอบรมวิชาการเรื่อง การบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ประเด็น “ยกฐานะควบรวมการเมือง ประชาชน ผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ ทิศทางอย่างไร” โดยการนำของนายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายเทศมนตรีตำบลยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะอดีตนายกสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย และผู้บริหาร คณะกรรมการสมาคมเทศบาลจังหวัดกาฬสินธุ์

โดยเชิญ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมาตอบข้อซักถาม ผู้เข้าอบรมประกอบด้วยผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น สังกัดเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลภายในจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าร่วมอบรมกว่า 1,000 คนจาก 151 แห่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์

รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาที่ค้างคาใจของผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความชัดเจนในงานบริหาร เพราะทุกคนเชื่อว่าพิมพ์เขียวในอนาคตที่หากผ่าน ครม.และเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ อาจจะไม่ตรงใจผู้บริหาร และอาจจะเกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชน จนเกิดการเคลื่อนไหว

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ พิมพ์เขียว ถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง เชื่อว่าประชาชนรวมถึงผู้บริหารจะเคลื่อนไหวทางการเมือง ระหว่างนี้จะสังเกตได้ว่า ผู้บริหารท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด มีการพูดคุยและให้ความรู้เกี่ยวกับผลการกระจายอำนาจ หากกระจายอำนาจจริงคงไม่มีใครขัด แต่กรณีดังกล่าวจะยุบรวมโดยอ้างว่าจะได้บริหารได้เต็มที่ตามงบประมาณ กรณีนี้มีใครบ้างที่ลงมาสอบถามความต้องการพื้นที่หรือไม่” รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว และว่า ส่วนตัวมองว่าก่อนจะเป็นมติ ครม. ผู้ร่างฯ ควรหาข้อมูลความจำเป็นในแต่ละพื้นที่เสียก่อน การยุบรวมจำเป็นต้องสอบถามพื้นที่ว่าพื้นที่ใดควรจะทำอะไร เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เช่นจังหวัดกาฬสินธุ์ ต้องถามประชาชนกาฬสินธุ์ ว่าควรที่จะควบรวมอย่างไร จำเป็นหรือไม่ ไม่ใช่มาสร้างพิมพ์เขียวแบ่งพื้นที่ให้เป็นสูตรสำเร็จอย่างที่เคยทำมา เชื่อว่าผู้ร่างฯ กฎหมายควบรวมนั้นพร้อมจะฟัง แต่คนท้องถิ่นไม่สามารถจะเข้าถึง เสียงไม่ดังพอ

ด้านนายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายเทศมนตรีตำบลยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะอดีตนายกสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยว่าควรจะควบรวม แต่การควบรวมจะทำอย่างไรไม่ให้กระทบสิทธิประชาชน เรื่องนี้กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนรวมถึงผู้บริหาร เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบด้านการบริหาร ส่วนงบประมาณคงเป็นเรื่องอนาคต ดังนั้นการควบรวมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งส่วนท้องถิ่นก็หวังจะให้เกิดความชัดเจนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความเชื่อมั่นการทำงานของรัฐบาลที่ตั้งใจเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น


นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายเทศมนตรีตำบลยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์

กำลังโหลดความคิดเห็น