xs
xsm
sm
md
lg

กางตำราเลย! กรมศิลป์แจงงานซ่อมพระลีลาวัดพระปรางค์ทำตามหลักการไม่ได้ผิดเพี้ยนจากเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุโขทัย - กรมศิลปากรออกโรงแจงผ่านเฟซบุ๊กกรณีการซ่อมแซมพระพุทธรูปปางลีลา หลังมีกระแสวิจารณ์ในโลกออนไลน์ว่าซ่อมแล้วผิดเพี้ยนทำลายมากกว่าอนุรักษ์ ระบุการซ่อมเป็นไปตามหลักวิชาการและตามแบบโบราณ แต่อาจแปลกตาไปบ้างเพราะบางจุดซ่อมแล้วชัดเจนขึ้น

วันนี้ (13 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีกระแสวิจารณ์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ประเด็นการบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปปางลีลา ผลงานชิ้นเอกของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร (วัดพระปรางค์) หมู่ที่ 6 ต.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามคลาสสิกที่สุด แต่การบูรณะผิดพลาดทำให้พระพักตร์พระพุทธรูปผิดเพี้ยน ถือเป็นการทำลายมากกว่าอนุรักษ์

ล่าสุดกรมศิลปากรได้มีการชี้แจงต่อเรื่องนี้ผ่านกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากรในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตามที่กรมศิลปากรได้มอบหมายให้อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยดำเนินการอนุรักษ์พระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และมีกระแสจากสื่อสังคมออนไลน์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์นั้น กรมศิลปากรขอนำเสนอข้อมูลในการดำเนินการอนุรักษ์ ดังนี้

จากการสำรวจโบราณสถานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหารที่ผ่านมา พบว่าพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาเกิดการชำรุดเสียหายตามกาลเวลา และจากสภาพดินฟ้าอากาศ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยจึงได้ขอความอนุเคราะห์ไปยังกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี ดำเนินการอนุรักษ์พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวตามหลักวิชาการ ในระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ย. 2559 ซึ่งการอนุรักษ์ประกอบไปด้วย

1.) การทำความสะอาดกำจัดคราบสกปรก (รา ตะไคร่ ทองคำเปลว ฯลฯ) ออกจากองค์พระพุทธรูป 2.) ทำการเสริมความมั่นคงชั้นผิวปูนฉาบเพื่อป้องกันน้ำ (ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการชำรุดเสียหาย) การซ่อมรอยชำรุดในบางจุด โดยการถม (เติม) ผิวปูนฉาบด้วยปูนหมักแบบโบราณในส่วนที่ผุกร่อน มีระดับต่ำกว่าผิวเดิม เพื่อป้องกันน้ำตามสัดส่วนเดิม และปรับแต่งสภาพผิวให้กลมกลืนกับของเดิม

การถมปิดรอยชำรุดในบางจุดนั้นอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับองค์พระไปบ้างเล็กน้อยจากที่เคยเห็น โดยเฉพาะในส่วนของพระนาสิก ซึ่งได้ทำความสะอาดล้างคราบราดำออกไป ทำให้เห็นลักษณะโด่งงุ้มชัดเจนขึ้น ไม่ได้แตกต่างไปจากสภาพเดิม ซึ่งพระนาสิกก็มีลักษณะโด่งงุ้มอยู่แต่เดิมแล้ว

อีกจุดได้แก่ บริเวณเหนือริมพระโอษฐ์บน จนถึงบริเวณใต้พระนาสิก ผิวปูนฉาบผุกร่อน หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการผุกร่อนลุกลามเป็นวงกว้างได้ จึงอนุรักษ์ด้วยวิธีถม (เติม) ผิวองค์พระ ด้วยปูนหมักแบบโบราณตามสัดส่วนเดิม และปรับแต่งสภาพผิวให้กลมกลืนกับของเดิม

ด้วยเหตุนี้หลังทำการอนุรักษ์เสร็จแล้วอาจทำให้สภาพขององค์พระพุทธรูปดูแตกต่าง แปลกตาไปจากสภาพเดิม สำหรับความชำรุดเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากปล่อยให้องค์พระพุทธรูปอยู่กลางแจ้งนั้น กรมศิลปากรอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการหาแนวทางในการป้องกันต่อไป

กรมศิลปากรขอขอบคุณประชาชนที่ได้ให้ข้อเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งนี้กรมศิลปากรตระหนักดีว่ามรดกศิลปวัฒนธรรมเป็นของคนไทยทุกคน และจะมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของงานด้านการอนุรักษ์ สืบทอดและสร้างสรรค์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สู่อนุชนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของคนในชาติสืบไป



กำลังโหลดความคิดเห็น