อุบลราชธานี - นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชี้ “โครงการแจกเงินคนจน” กระตุ้นใช้จ่ายตรงเป้า เหตุประชาชนรายได้น้อยมีกำลังซื้อจะใช้จ่าย คาดเม็ดเงินสะพัดแน่ แนะปรับนโยบายฟื้นตัวเศรษฐกิจระยะยาว รัฐมองโครงสร้างการค้าทั้งระบบ หาตลาดใหม่ ไม่แค่ยุโรป อเมริกา เพิ่มตลาดใหม่เช่น AEC ด้วย
นายนพพร พันธ์เพ็ง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอาจารย์พิเศษ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี กล่าวถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แจกเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ตามฐานของรายได้คนละ 1,500 และ 3,000 บาทว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ถือเป็นการหมุนเงินเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ วิธีการแบบนี้ เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาก่อน โดยแจกเงินให้ข้าราชการคนละ 2,000 บาท แต่ต่างกันที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นทะเบียนผู้ที่จะได้รับแจกในทะเบียนคนจน เมื่อคนที่มีรายได้น้อยได้รับเงินจะนำเงินมาใช้จ่ายทันที ทำให้เงินเกิดหมุนเวียนในประเทศ ผิดจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การแจกเงินไปครั้งนั้นบางคนมีเงินอยู่แล้ว เมื่อได้รับเงินก็เก็บสะสมไว้ การแจกเงินครั้งนี้จึงบังเกิดผลในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ตามจำนวนเงินที่รัฐบาลอัดฉีดลงมา
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวต้องเปลี่ยนโครงสร้าง คือ รัฐบาลต้องพึ่งพาการส่งออกและสร้างกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในประเทศ ให้มีกำลังผลิตมากขึ้น โดยไม่พึ่งพาสินค้าด้านใดด้านหนึ่ง สิ่งที่เป็นปัญหาของประเทศขณะนี้คือ กำลังซื้อในประเทศลดลง เพราะสินค้าภาคเกษตรซบเซา ทำให้คนในชนบทมีกำลังซื้อน้อย ส่งผลต่อการใช้จ่ายของคนในชนบทน้อยตามไปด้วย
“การแก้ปัญหาจึงต้องพึ่งพาการส่งออก และเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ จึงต้องเปลี่ยนโครงการผลิตแทนพึ่งภาคเกษตรอย่างเดียว ต้องมีภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม พร้อมมองหาตลาดใหม่ เช่นAEC แทนที่จะมุ่งไปที่ตลาดอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ไทยต้องหันมาค้าขายในกลุ่ม AEC มากยิ่งขึ้นและต่อเนื่อง จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตขึ้น” นักวิชาการรายนี้กล่าว