กาฬสินธุ์ - ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กาฬสินธุ์ เขต 2 (สพป.) ใช้ช่วง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” นำนักเรียนออกเกี่ยวข้าวเรียนรู้วิถีชาวนาและช่วยเหลือชาวนา หลังในพื้นที่ อ.ห้วยเม็ก หนองกุงศรี และ อ.ท่าคันโท ประสบปัญหาค่าแรงจ้างเกี่ยวข้าวพุ่งสูงวันละ 350-400 บาท ขณะที่รถเกี่ยวข้าวก็มีราคาสูงขึ้น
วันนี้ (23 พ.ย.) ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 นำนักเรียนจากโรงเรียนหนองแวงประชาสรรพ์ อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 30 คน เดินทางไปร่วมเกี่ยวข้าวช่วยชาวนาบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงเรียน โดยใช้ชั่วโมงเรียนในส่วนของกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
โดยมีนายเคน อาจดวงดี ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองแวงประชาสรรพ์ และบุคลากรการศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พร้อมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 กว่า 30 คน ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวที่แปลงนานายสุนทร ยินดีเทศ อายุ 55 ปี ชาวนาบ้านกุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งนายสุนทรมีที่นา 20 ไร่
ถือเป็นกิจกรรมทำดีเพื่อพ่อ ช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว โดยมีนางระเบียบ จันทร์ชมภู ผอ.โรงเรียนปอแดงวิทยา เป็นวิทยากรแนะนำการเกี่ยวข้าวที่ถูกวิธีและสอนนักเรียนเกี่ยวข้าวกลางทุ่งนาอีกด้วย
นายสุนทร ยินดีเทศ เจ้าของนาข้าว เล่าว่า ที่นา 20 ไร่นี้ตนได้เกี่ยวไปบางส่วนแล้ว เหลืออีก 9 ไร่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวเพราะประสบปัญหาค่าแรงงานพุ่งสูงถึงวันละ 350-400 บาท ขณะที่รถเกี่ยวข้าวก็เพิ่มราคาขึ้นอีก ทำให้ได้รับความเดือดร้อน กระทั่งมีกิจกรรม “ทำดีเพื่อพ่อ ช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว” ของ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ได้ช่วยเหลือ โดยได้ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงก็เก็บเกี่ยวข้าวจนแล้วเสร็จ
เจ้าของนาก็ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไร มีข้าวปลาอาหารก็เตรียมไว้ให้ลูกหลานที่มาช่วยได้กินกันเล็กๆ น้อยๆ ต้องขอขอบคุณทาง ผอ.เขต และคณะครูอาจารย์ทุกคนที่มาร่วมทำกิจกรรมซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก
ดร.ภูมิพัทร เรืองแหล่ ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กล่าวว่า เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพ่อหลวง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะตั้งมั่นอยู่ในความดี มีความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม และเรียนรู้วิถีเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ และวิถีแห่งความพอเพียงตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
กิจกรรมทำดีเพื่อพ่อ ช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว จึงเกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือชาวนาที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาค่าแรงงานเกี่ยวข้าวเพิ่มสูงขึ้น ทุกวันนี้ค่าจ้างสูงถึงวันละ 350-400 บาทต่อคน ขณะที่รถเกี่ยวข้าวในพื้นที่ต้องจองคิวยาวและต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวโดยนักเรียนของสถานศึกษาในพื้นที่จึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายการจ้างแรงงานลงได้ และยังเป็นโอกาสดีที่จะให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้วิถีชาวนา เรียนรู้ประเพณีลงแขก สร้างให้พวกเขาเป็นผู้มีจิตอาสาเพื่อสาธารณประโยชน์โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และนอกจากนี้ยังจะเวียนไปยังพื้นที่ในเขตรับผิดชอบ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ฆ้องชัย อ.ยางตลาด อ.หนองกุงศรี อ.ท่าคันโท และ อ.ห้วยเม็ก
สำหรับการออกช่วยเหลือชาวนานั้นไม่เฉพาะแต่การเกี่ยวข้าว แต่ยังรวมถึงการมัดฟ่อนข้าว การขนและการตีข้าว เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รู้ว่ากว่าจะได้ข้าวมานั้นมีความยากลำบากเพียงใด แม้ว่านักเรียนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวชาวนา แต่บางรายอาจจะไม่เคยทำนาเลย และบางคนก็ทำนากับพ่อแม่มีความชำนาญก็จะได้ใช้วิชาความรู้จากพ่อแม่มาสอนเพื่อนพี่น้องในโรงเรียนได้