xs
xsm
sm
md
lg

2 หนุ่มสาวรุ่นใหม่บ่ายหน้าจากเมืองหลวง ตั้งแบรนด์ปลูกข้าวขายเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุรินทร์ - สองหนุ่มสาวรุ่นใหม่ตัดสินใจลาออกจากงานในเมืองหลวง หันมาปลูกข้าวปลอดภัยขายเองที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ฅนปลูกข้าว ลูกชาวนา” กว่า 3 ปีที่ไม่ต้องพึ่งโรงสีใหญ่และพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งยึดหลักความพอเพียง ทำให้มีรายได้เพียงพอแก่การใช้ชีวิต ทั้งยังมีเงินเก็บสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว

นายสมเกียรติ และนางนลินภัสร์ พุทธิจรุงวงศ์ สองสามีภรรยาในวัย 30 ต้นๆ ชาวนาบ้านสระ หมู่ที่ 2 ตำบลกันตวจระมวล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า แต่ก่อนทั้งคู่ต่างศึกษาเล่าเรียน และทำงานที่กรุงเทพฯ มาเป็นเวลานาน กระทั่งนลินภัสร์ได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาใช้ชีวิตชาวนาเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก่อนที่สมเกียรติจะตามมาสมทบอย่างเต็มตัวในอีก 4 ปีให้หลัง

การทำนาระยะแรก นาข้าวหอมมะลิสุรินทร์ทั้ง 40 ไร่ ยังคงปลูกแบบนาทั่วไป แต่ด้วยเกรงกลัวอันตรายจากสารเคมีการเกษตร ประกอบกับได้สอบถามแม่ ซึ่งเป็นชาวนาทำให้ทราบว่าแต่ก่อนชาวนาสามารถปลูกข้าวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีใดๆ เลย สุขภาพร่างกายจึงแข็งแรง

ความรู้นี้จุดประกายให้ทั้งสองลงมือสืบค้นความรู้การปลูกข้าวอินทรีย์และนำมาปรับใช้จนลดใช้ปุ๋ยเคมีให้เหลือน้อยที่สุด ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงเลย แม้ปัจจุบันยังไม่สามารถเรียกได้เต็มปากว่าเป็นข้าวอินทรีย์ แต่รับประกันได้ว่าข้าวที่ได้ล้วนเป็นข้าวปลอดภัย โดยยึดหลักที่ว่าเราปลูกข้าวอย่างที่เรากิน และเราขายข้าวอย่างที่เรากินเองเช่นกัน

ทั้งนี้ เพื่อฝ่าวิกฤตราคาข้าวที่ไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ทั้งคู่ได้ตั้งแบรนด์ “ฅนปลูกข้าว ลูกชาวนา” ขึ้นมาขายข้าวเองผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง “เฟซบุ๊ก” และ “อินสตาแกรม” วิธีนี้ส่งผลให้นลินภัสร์และสมเกียรติสามารถตั้งราคาขายข้าวได้ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรมทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค เพราะไม่ต้องผ่านโรงสีใหญ่และพ่อค้าคนกลาง พบว่าตลอดเวลากว่า 3 ปีที่ขายข้าวเองได้รับการตอบรับที่ดีจากหมู่เพื่อนฝูง คนรู้จัก รวมไปถึงกลุ่มผู้รักสุขภาพที่ทานแล้วชอบและช่วยบอกต่อ

ปัจจุบันข้าวไทยแบรนด์ “ฅนปลูกข้าว ลูกชาวนา” มีฐานลูกค้าประจำแล้วจำนวนหนึ่ง และยังคงขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยการประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการทำนา ลดต้นทุนโดยพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ก็ทำให้มีเงินกิน เงินใช้ และเงินเก็บในครอบครัว

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดที่เรานำไปใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต หรือแม้แต่เรื่องการทำนา เช่นเราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราปลูกข้าวไปเพื่ออะไร เพื่อกิน หรือเพื่อขาย เราจะปลูกแค่ไหนที่ไม่เกินกำลังของเรา และเราดูแลได้ทั่วถึง ทำให้ได้ผลผลิตที่ดี ขายได้ราคา และเราจะมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงอย่างไรเป็นภูมิคุ้มกันให้เราผลิตข้าวได้ปริมาณ คุณภาพ และขายข้าวได้ราคาที่ดีที่สุด ที่สำคัญเราต้องหมั่นหาความรู้ในเรื่องที่จะทำ และเราต้องมีคุณธรรมในการทำนา ซื่อสัตย์ซื่อตรงต่อตนเอง และไม่คดโกงผู้บริโภค เมื่อเราทำได้อย่างนี้ สิ่งดีๆ ก็กลับมาหาเราเอง” ชาวนาเลือดใหม่กล่าว

สุดท้ายนี้ ทั้งสองยังฝากไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า การช่วยเหลือชาวนาในระยะยาวและยั่งยืน จำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ชาวนาพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด หลุดพ้นจากการพึ่งพิงโรงสีใหญ่และพ่อค้าคนกลาง อาทิ การยกระดับโรงสีชุมชนให้สีข้าวได้ปริมาณและคุณภาพใกล้เคียงกับโรงสีใหญ่ รวมถึงเรื่องอลจิสติกส์ การส่งสินค้าการเกษตรจากมือผู้ผลิตไปถึงมือผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันการขนส่งทางไปรษณีย์ไทยและบริษัทขนส่งเอกชนมีต้นทุนสูงมาก กีดกันให้ชาวนาส่งข้าวถึงมือลูกค้าได้ยากลำบาก

“หากภาครัฐเข้ามาปิดช่องว่างตรงนี้ได้ ชาวนาและผู้บริโภคข้าวจะอยู่ใกล้กันมากขึ้น ชาวนาสามารถขายข้าวถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรงในราคาที่เหมาะสม ผู้บริโภคเองก็ได้ทานข้าวสดใหม่ มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้นเช่นกัน” 2 ชาวนาเจ้าของข้าวไทยแบรนด์ “ฅนปลูกข้าว ลูกชาวนา” กล่าวทิ้งท้าย







กำลังโหลดความคิดเห็น