xs
xsm
sm
md
lg

ได้ผล ระงับรื้อชั่วคราว เรือนโบราณ 100 ปีเมืองลับแล รอกรมศิลป์ชี้ชะตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - โลกออนไลน์แห่แชร์ภาพเรือนไม้โบราณ 100 ปีเมืองลับแลขณะกำลังถูกรื้อถอน จนกลายเป็นกระแส คนเสียดายกันทั่วบ้านทั่วเมือง ล่าสุดกรมศิลป์สั่งระงับ-ห้ามแตะต้องชั่วคราวแล้ว รอพิจารณาขึ้นทะเบียนหรือไม่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ฯ รับ “ไม่เคยเห็นที่ไหนงามอย่างนี้มาก่อน”

วันนี้ (10 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ลาเต้ ยูทีดีคลับ” เผยแพร่ภาพเรือนไม้โบราณเมืองลับแล ต.ศรีพนมมาศ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และให้คำบรรยายว่า “บ้านโบราณ ๑๐๐ ปีเตรียมรื้อถอน! เสียดายความสวยงามของบ้านโบราณหลังนี้ เสียใจกับการสูญเสียคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่น เสียโอกาสให้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นลับแล เสียคุณค่าทางปัญญาที่ไม่มีวันหวนกลับคืนมาได้ ใครจะไปถ่ายภาพกับบ้านก่อนโดนรื้อเชิญนะครับ” ซึ่งมียอดผู้ชม-แชร์เป็นจำนวนมาก และมีผู้แสดงความคิดเห็นต่างเสียดายไปตามๆ กัน

และมีผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เดิมบ้านหลังนี้เป็นของ นายฮะ และนางเฮียง ราษฎร์สุดใจ ที่ได้สร้างบ้านขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว นายฮะ (สกุลเดิม แซ่ตั้ง)เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางเข้ามาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ และนางเฮียง เป็นชาวเมืองพิชัย ทั้งคู่พบรักกันและเดินทางมาทำมาหากินสร้างรากฐานครอบครัวมีลูกหลานสืบต่อมา จนกระทั่งเสียชีวิต และบ้านหลังนี้ได้ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทจนปัจจุบัน

จากนั้นได้มีการเปิดเผยข้อมูลเหตุผลของการต้องขาย และรื้อเรือนไม้โบราณลับแลหลังนี้ไปว่า เจ้าของผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ไม่สามารถจะดูแลรักษาไว้ได้ เคยขอความช่วยเหลือไปหลายแห่ง ถึงขั้นจะยกให้วัดดังแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลกเข้ามาดูแลด้วยซ้ำ แต่ทางวัดก็ปฏิเสธ เนื่องจากอยู่คนละพื้นที่ และเกินกำลังสามารถ

จนในที่สุดแล้วจึงได้ตัดสินใจขายให้ไปอยู่จังหวัดลพบุรี โดยผู้ซื้อมีเจตนาที่จะรื้อไปปลูกสร้างในรูปแบบเดิม เพื่อจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านสี่ภาคในพื้นที่จังหวัดลพบุรี

ต่อมามีการร้องเรียนเข้าไปที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยขอให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้ลงไปตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง และหาทางช่วยเหลือโดยด่วน ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก “ลาเต้ ยูทีดีคลับ” ได้แจ้งความคืบหน้า ด้วยการโพสต์ภาพ และข้อความว่า

“ทำไมต้องรื้อ รื้อแล้วไปไหน รวมภาพสุดท้ายก่อนรื้อ ลาก่อนบ้าน ๑๐๐ ปี” พร้อมทั้งมีรายละเอียดประวัติของเรือนโดยย่อ ซึ่งได้อธิบายถึงตัวเรือนคร่าวๆ ว่า ตัวเรือนสร้างจากไม้หลายชนิด เช่น ไม้สัก ไม้มะม่วงป่า มีเสาเรือนประมาณ 80 ต้น โครงสร้างแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ตัวเรือนที่พักอาศัยและส่วนเรือนบริการเชื่อมต่อกันด้วยชานโล่ง มีบันไดขึ้นลง 3 จุด

การประกอบเรือนเป็นแบบโบราณ คือ ไม่ใช้ตะปู แต่จะใช้เป็นไม้เข้าเป็นลิ่ม เดือย สลักยึดเข้าด้วยกัน ผนังเป็นไม้สักเข้าร่องลิ้น มีบานประตูเป็นไม้สักทำแบบฝาปะกันทึบ หน้าต่างเป็นแป้นเกล็ดเปิดได้สองทาง รับลมแสงสว่างได้อย่างปลอดโปร่ง

นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเหตุผลที่จะต้องรื้อนี้ด้วย ทั้งยังบอกถึงความเสียใจและเสียดายอย่างที่สุดสำหรับเจ้าของบ้าน หากแต่ก็ไม่สามารถจะดูแลต่อไปได้ ทำให้มีการแสดงความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ ระบุถึงความเสียดายอาลัยอาวรณ์ และมีการโพสต์ภาพบ้านที่กำลังถูกรื้อหลังคาไปบางส่วนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเรื่องราวบ้านโบราณ 100 ปีลับแล ถูกส่งถึงกระทรวงวัฒนธรรม อธิบดีกรมศิลปากรได้มีคำสั่งการให้สำนักกรมศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ลงพื้นที่โดยด่วน เพื่อตรวจสอบเรื่องราว

นายตระกูล หาญทองกูล เจ้าหน้าที่สำนักกรมศิลป์ฯ ที่ 6 ที่เดินทางเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงบ้านโบราณดังกล่าว ได้ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ได้นำคำสั่งจากกรมศิลป์เข้าระงับการรื้อถอน และให้คนงานพร้อมอุปกรณ์ออกนอกพื้นที่แล้ว หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และหลังจากนี้ให้รอคำสั่งอธิบดีกรมศิลปากรเพียงอย่างเดียว เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบคุณค่าความงดงามทางวัฒนธรรม จะพิจารณาให้รื้อถอนต่อไปได้หรือสมควรขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน

นายตระกูลยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า โบราณสถาน ไม่ว่าจะมีอายุถึงร้อยปีหรือไม่ หากมีความงดงาม มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จะถือเป็นโบราณสถานที่มีกฎหมายคุ้มครองไปโดยปริยาย เจ้าของผู้ถือครองสามารถซื้อขายโอนเปลี่ยนชื่อได้ แต่หากจะรื้อถอนหรือกระทำการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความชำรุดไม่ได้

นายตระกูลยังบอกด้วยว่า ตั้งแต่ตนทำงานมาและทำการบูรณะโบราณสถานมา รวมถึงอาคารวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ เรือนไม้โบราณหลังนี้ถือว่างดงาม มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมมากที่สุด และเมื่อเรื่องราวการสั่งระงับรื้อถอนบ้านโบราณ 100 ปีลับแล ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้ชาวเน็ตต่างแห่ชื่นชมและให้กำลังใจ พร้อมแสดงความหวังว่า อธิบดีกรมศิลปากร และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะช่วยรักษาโบราณสถานเรือนไม้โบราณแห่งนี้ไว้เป็นมรดกแก่เมืองลับแล รวมถึงภาครัฐจะให้ความเป็นธรรมช่วยเหลือเจ้าของผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้คนที่ลงไปสำรวจบ้านโบราณ 100 ปีได้ระบุว่า ยังมีโบราณสถานทั้งวัด และบ้านเรือนเก่าแก่ที่น่าขึ้นทะเบียนไว้เป็นสมบัติของท้องถิ่น และประเทศชาติ อีกมากมายในเมืองลับแลแห่งนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น