xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าน้ำตาไหล...เหยี่ยวข่าวลายคราม “สุรัตน์ บัณฑิตย์”เผยยังจดจำเสียงแซ่ซ้อง “ทรงพระเจริญ” สนั่นอ่าวพัทยาหลังในหลวง ร.9 ได้เหรียญทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - เปิดประสบการณ์จริงสุดประทับใจ...ที่สุดในชีวิตการทำข่าวของปรมาจารย์น้ำหมึกรุ่นลายครามตำนานเมืองชล “สุรัตน์ บัณฑิตย์” บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์ข่าวศรีราชา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เล่าเรื่องน้ำตาไหลสุดยอดในชีวิตเหยี่ยวข่าวบูรพา เคยติดตามเข้าเฝ้าในหลวงภูมิพลทรงเป็นตัวแทนของประเทศไทย ในการแข่งกีฬาซีเกมส์ ที่ทะเลเมืองพัทยา ยังจำภาพบรรยากาศแห่งความทรงจำได้ถนัดหัวใจ ชาวบ้าน-ฝรั่งนักท่องเที่ยวเรือนหมื่นร่วมแซ่ซ้อง “ทรงพระเจริญ” ดังสนั่นอ่าววงเดือน

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ศูนย์ข่าวศรีราชา ได้มีโอกาสรับฟังเรื่องเล่าการทำงานด้านสื่อมวลชนจากประสบการณ์ตรงในครั้งหนึ่งของชีวิตการทำข่าวของลุงสุรัตน์ บัณฑิตย์ หรือนายปัญจรัตน์ บัณฑิตย์ ในฐานะ บรรณาธิการอาวุโสศูนย์ข่าวศรีราชา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้ให้ความกรุณาเล่าเรื่องและความประทับใจใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราชา เป็นประสบการณ์จริงของตนเองที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน โดยเปิดเผยกับ MGR Online เป็นที่แรกและครั้งแรก ว่า

ตอนนี้เหมือนหัวใจแตกสลาย เมื่อประเทศไทยต้องสูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของมวลชนชาวไทย เมื่อครั้งหนึ่งในชีวิตของตนเองเคยมีโอกาสได้เข้าเฝ้ารับเสด็จครั้งพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งครั้งนั้น พระองค์ท่านพร้อมเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ฯได้ทรงเข้าร่วมการแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง หรือกีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน ครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ.2510 ที่มีกำหนดการจัดการแข่งขันขึ้นที่ชายหาดอ่าววงเดือน อ่าวพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมืองพัทยา จ.ชลบุรี

ในครั้งนั้นมีคณะผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปเข้าเฝ้ารับเสด็จเพื่อรายงานบรรยากาศผู้เข้าชมการแข่งขันและผลการแข่งขันเรือใบกีฬาแหลมทอง โดยมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศหลากหลายฉบับ หลากหลายสำนัก รวมทั้งสิ้น 15 คน ร่วมติดตามรายงานข่าวตั้งแต่ช่วงก่อนวันแข่งขันจนการแข่งขันแล้วเสร็จ โดยในขณะนั้น ลุงสุรัตน์ บัณฑิตย์ อยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ด้วยมีอายุเพียง 28 ปี และทำงานให้สังกัดหนังสือพิมพ์สำนักบานเย็น หรือหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ลุงสุรัตน์ บัณฑิตย์ เล่าว่าในกลุ่มนักข่าวหรือคณะสื่อมวลชนที่มีโอกาสไปทำข่าวเข้าเฝ้ารับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเข้าร่วมการแข่งขันเรือใบแหลมทองในครั้งนั้น ตนเองในขณะนั้นเป็นผู้สื่อข่าว มีนายสุรินทร์ พนมเชิง เป็นช่างภาพ จำได้ว่าสหายน้ำหมึกเพื่อนนักข่าวที่ร่วมทำข่าวมีนายแอนตั้น เปไรร่า นายกำธร (ก่ำ) เสริมเกษม และเพื่อนๆนักข่าว ฉบับอื่นๆ อีกกว่า 10 คน

ในงานแข่งขันกีฬามีชาวบ้านประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าร่วมรับชมการแข่งขันเรือใบที่มีนักกีฬานานาชาติเข้าร่วมแข่งขันกันอย่างคับคั่ง มีคณะทูต จากหลากหลายประเทศเดินทางเข้าร่วมชมการแข่งขัน บรรยากาศของชายหาดพัทยาในเวลานั้นจึงดูคึกคักและสนุกสนานเป็นอย่างมาก ทำให้บริเวณสโมสรเรือใบของ พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ (เสธ.ทวี) อดีตผู้บัญชาการทหาร 3 เหล่าทัพในขณะนั้น หรือบริเวณอนุสรณ์สถานเรือใบในหลวง พัทยาใต้ ในปัจจุบันมากมายไปด้วยผู้คน

ในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนที่รายงานการแข่งขันกีฬาเรือใบในครั้งนั้น สำหรับตนเองแล้วได้รับความอนุเคราะห์และเมตตาจากหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ผู้ติดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทุกแห่งที่พระองค์ท่านทรงเสด็จเดินทางไปทรงงานเพื่อพสกนิกร เป็นผู้ประสานงานข้อมูลกับคณะผู้สื่อข่าวด้วยอัธยาศัยไมตรีมีเมตตากับผู้สื่อข่าวที่ร่วมทำข่าวในครั้งนั้นจนเป็นความประทับใจมากจนถึงปัจจุบัน

อดีตเหยี่ยวข่าวเล่าตำนานแห่งเมืองชลบุรีผู้เดินทางไปทั่วบูรพาทิศ เล่าต่ออย่างได้อรรถรสว่า ในการแข่งขันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ฯ ทั้งสองพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ต่อวงการกีฬาโลกด้วยทรงแสดงพระอัจฉริยะภาพด้านกีฬาเรือใบ จนชนะเลิศการแข่งขันรายการดังกล่าว สร้างความปีติยินดีต่ออาณาประชาราษฎร์ชาวชาวอำเภอบางละมุงและนักท่องเที่ยวต่างชาตินับหมื่นคนที่ร่วมชมการแข่งขันต่างโห่ร้องไชโยแสดงความยินดีด้วยคำว่า “ทรงพระเจริญ” เสียงกึกก้องดังสนั่นอ่าวพัทยาในเวลานั้นเมื่อทราบผลการแข่งขันว่า พระองค์ท่านกับเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนฯ ได้ครองเหรียญทองทั้ง 2 พระองค์ จนจำได้มาถึงวันนี้

ทั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันได้มีข้าราชบริพารได้ประสานมายังกลุ่มผู้สื่อข่าวก่อนแจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระเมตตา ให้สัมภาษณ์คณะผู้สื่อข่าว - ช่างภาพ นอกจากพระองค์ท่านพระราชทานสัมภาษณ์แล้ว มีงานเลี้ยงพระราชทานให้คณะผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมรายงานข่าวในครั้งนั้นได้ร่วมรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่พระตำหนักพัทยา สร้างความตกตะลึงใจปนความดีใจและตื้นตันใจต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่พระราชทานให้กลุ่มนักข่าวในขณะนั้นอย่างล้นพ้น

ตอนนั้นจำได้ว่า นายแอนตั้น และนายกำธร ต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อไปทำงานต่อ ทำให้เหลือคณะผู้สื่อข่าวที่มีโอกาสร่วมงานเลี้ยงพระราชทานดังกล่าวแค่ 13 คน ในงานเลี้ยงพระราชทานข้าราชบริพารต่างนำอาหารและเครื่องดื่มจัดเตรียมไว้ให้คณะผู้สื่อข่าวได้อิ่มหนำสำราญกันอย่างเต็มที่ ทุกคนต่างตื่นตันใจในโอกาสที่สุดแห่งชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานน้ำพระทัยของพระองค์แบบโดยตรง ถือเป็นบุญที่สุดของชีวิตการทำงานนักข่าวหรือสื่อสารมวลชนแล้ว

ลุงสุรัตน์ เล่าต่อว่าเป็นที่ทราบกันดีของนักข่าว-ช่างภาพที่ได้ร่วมติดตามเข้าเฝ้าเสด็จร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบในหลายๆครั้ง แม้กระทั่งในการแข่งขันทรงเรือใบที่หัวหินในปีต่อมาได้ครองแชมป์เรือใบโอเค อีก ซึ่งพอเว้นจากการทรงเรือใบ พระบาทสมเด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นั้นทรงมีความเป็นห่วงพสกนิกรและประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะจะเห็นได้จากพระองค์ท่านเสด็จด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังจังหวัดต่างๆ ในการแข่งขันเรือใบที่อ่าวหัวหิน ขณะทรงประทับระหว่างแปรพระราชฐานอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จนเป็นภาพชินตา

“พระองค์ได้ทรงงานอย่างหนัก ทรงเสด็จด้วย ฮ.เดินทางไปแก้ไขปัญหาให้พสกนิกรจังหวัดอื่นๆ อีกทั้งยังทรงเป็นนักกีฬาที่มีน้ำพระทัย อย่างหาที่สุดมิได้ ต่อนักกีฬาด้วยกัน รวมถึงคณะผู้สื่อข่าวที่มีโอกาสเดินทางติดตามไปเข้าเฝ้าพระองค์ในการแข่งขันกีฬาเรือใบครั้งนั้นทุกคนด้วย นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตการทำข่าวและชีวิตสื่อสารมวลชนมาตลอดชีวิตของตนเป็นอย่างยิ่ง”

ลุงสุรัตน์ นักข่าวรุ่นลายคราม กล่าวด้วยน้ำตาแห่งความจงรักภักดีที่ครั้งหนึ่งเคยใกล้ชิดและติดตามองค์พ่ออยู่หัวภูมิพล เมื่อครั้งเสด็จทรงกีฬาเรือใบหลายๆ ครั้งในจังหวัดชลบุรี เช่น ที่อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ ทรงเรือใบที่สโมสรวารูน่าคลับพัทยาและยังได้ติดตามทำข่าวเมื่อพระองค์ท่านทรงแล่นเรือใบข้ามอ่าวจากพัทยาฝั่งทะเลตะวันออกไปยังอ่าวทะเลภาคใต้ไปขึ้นฝั่งที่หัวหิน โดยแล่นใบไปพระองค์เดียว ถือ เปรียบเสมือนทรงเปิดเส้นทาง ทางทะเลจากทะเลตะวันออกสู่ภาคใต้















กำลังโหลดความคิดเห็น