เชียงใหม่/สุโขทัย - ชาวม้งม่อนแจ่มกอดพระบรมฉายาลักษณ์เล่าย้อนรอยพระบาท “ในหลวง ร.๙” เหมือนเทพเจ้ามาช่วย ทำชาวบ้านหายจน ขณะที่คนใต้เขื่อนแม่กวงฯ ได้ทำนา 2 ครั้งต่อปี-ปลูกพืชหมุนเวียนได้ตลอด ด้านทายาท “ขุนประพนธ์ธุระราษฎร์” เผยบันทึกคราวเสด็จฯ สุโขทัย
พสกนิกรชาวเชียงใหม่ทุกหมู่เหล่าต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง รัชกาลที่ ๙ อย่างหาที่สุดมิได้ เช่น ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง บ้านหนองหอยเก่า บนดอยม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับพระเมตตาพระราชทานพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาวปลูกเป็นอาชีพจนเลิกปลูกฝิ่น สร้างโรงเรียน ทำถนนเข้าหมู่บ้าน ช่วยให้มีฐานะดีขึ้นทั้งหมู่บ้าน
นายสุทิน เตชะเลิศพนา อายุ 52 ปี ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง บ้านหนองหอยเก่า บนดอยม่อนแจ่ม ต.แม่แรม อ.แม่ริม ถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไว้ในมืออย่างเทิดทูน บอกว่า กว่า 40 ปีก่อนบริเวณโรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ 2 ยังเป็นป่า พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาทรงเยี่ยมชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง และตนเองเป็นหนึ่งในเด็กชาวม้งที่มาเข้าแถวรอรับพระราชทานสิ่งของ ทั้งผ้าห่ม และเสื้อ ส่วนบิดาได้ถวายผลท้อ
พระองค์ได้เสด็จฯ มาในพื้นที่หลายครั้ง จากนั้นไม่นานก็ได้พระราชทานกล้าพันธุ์พืชผัก-ไม้ผลเมืองหนาว ให้ปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น สร้างโรงเรียน รวมทั้งถนนเข้าหมู่บ้าน ซึ่งในอดีตไม่มีถนน แม้แต่รถจักรยานยนต์ก็เดินทางมาลำบาก โดยเฉพาะหน้าฝน และมีโครงการหลวงเกิดขึ้นตามลำดับเพื่อรับซื้อผลผลิตของชาวบ้าน
“ชาวบ้านที่นี่ต่างยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทุกครัวเรือน และล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ทุกบ้านจะมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ติดไว้เพื่อกราบไหว้บูชา ซึ่งตนยังจดจำที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินได้ดี แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานหลายสิบปี แต่ตอนนั้นชาวบ้านยากจนไม่มีกล้องถ่ายรูปจึงไม่ได้มีการถ่ายภาพไว้ พระองค์เสด็จฯ มาเหมือนเทพเจ้าเข้ามาช่วยเหลือ”
ด้านนายดวงดี สมสวย อายุ 70 ปี อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกิ่วแล ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเคยเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ 24 ปีก่อน ขณะเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด กล่าวว่า เศร้าเสียใจกันทั้งหมู่บ้านจนกินไม่ได้นอนไม่หลับไปหลายวัน
นายดวงดีบอกว่า ชาวบ้านที่นี่ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ท่านมีพระราชดำริสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน จนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น หายจน มีน้ำในการทำนาถึง 2 ครั้งต่อปี และปลูกพืชหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี
ขณะที่นายรับเสด็จ สิงหชงค์ อายุ 58 ปี บุตรของนายสวน สิงหชงค์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองสุโขทัยธานี (5 สมัย) เปิดเผยว่า คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนสุโขทัยเป็นจังหวัดเล็กๆ ไม่มีใครรู้จัก การที่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ มาประชาชนไม่ทราบเลยว่าพระองค์ท่านมีรูปลักษณะเป็นอย่างไร เพราะการสื่อสารยุคนั้นไม่ทันสมัย
ดังนั้นทางสำนักพระราชวัง โดยพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร ผู้อำนวยการกองวัง (ในขณะนั้น) จึงได้ประสานให้เทศบาลเมืองสุโขทัยธานีช่วยออกหน่วยนำภาพยนตร์ในพระองค์ฯ ออกฉายหน้าโรงหนังประพนธ์พัฒนา และในอำเภอต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบ จึงทำให้ครอบครัวของตนได้มีส่วนร่วมในการเตรียมรับเสด็จภาคเหนือครั้งแรกนี้ด้วย
“ปี พ.ศ. 2501 คุณพ่อดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสุโขทัยธานี ส่วนคุณแม่คือ นางพูลศรี สิงหชงค์ ก็กำลังตั้งท้อง เมื่อได้ทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ มาสุโขทัยในวันที่ 1 มีนาคม คุณแม่ก็รู้สึกเป็นกังวลใจมาก เพราะท้องแก่ใกล้คลอดกลัวจะพลาดโอกาสที่จะได้เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ แต่แม่ก็คลอดผมออกมาก่อนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2501 สามารถเข้าร่วมในการเตรียมรับเสด็จตามที่ตั้งใจไว้ได้ จึงตั้งชื่อผมว่านายรับเสด็จ”
นายรับเสด็จกล่าวอีกว่า ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมชาวสุโขทัยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1-2 มีนาคม 2501 นั้น คุณพ่อ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสุโขทัยธานี ได้มีโอกาสร่วมโต๊ะเสวย และเตรียมงานการรับเสด็จ รวมทั้งได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับคุณตาคือ ขุนประพนธ์ธุระราษฎร์ ส่วนคุณแม่ก็ได้มีส่วนร่วมในงานครัวด้วย ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ต่อมาในคราวเสด็จพระราชดำเนินสุโขทัยครั้งที่ 3 ในวันที่ 25 มกราคม 2509 ตนอายุได้ 8 ขวบ ก็ได้มีโอกาสตามคุณแม่ไปรับเสด็จที่บ้านแก่งหลวง อ.ศรีสัชนาลัย โดยคุณแม่มีหน้าที่ร่วมในงานครัว ตอนนั้นเมนูอาหารที่จัดทำถวาย ซึ่งตนจำได้ติดตาคือ ห่อหมกปลาช่อน และปลาชะโอนทอดกระเทียมพริกไทย
“การสูญเสียพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวไทยครั้งนี้ นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของทุกคน และพระองค์ท่านจะยังคงอยู่ในใจของพวกเราตราบนานเท่านาน” นายรับเสด็จกล่าวด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ