xs
xsm
sm
md
lg

จนท.ลุยตรวจ “เมืองโบราณ” บุรีรัมย์ 2,000 ปี ถูกบุกรุกออกเอกสารสิทธิกว่า 60 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมาร่วมธนารักษ์จังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าตรวจสอบพื้นที่เมืองโบราณอายุกว่า 2 พันปี อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์  พบบุกรุกเข้าทำกินออกเอกสารสิทธิ์ถือครองกว่า 60 ไร่ วันนี้ ( 19 ต.ค.)
บุรีรัมย์ - สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ร่วมกับธนารักษ์จังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าตรวจสอบพื้นที่เมืองโบราณอายุกว่า 2,000 ปี อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ พบมีประชาชน และนักการเมืองท้องถิ่นบุกรุกเข้าทำกิน ทั้งออกเอกสารสิทธิถือครองกว่า 60 ไร่ จากเนื้อที่กว่า 120 ไร่ ยันให้ที่ดินสอบเขตเพิกถอนพร้อมเอาผิด

วันนี้ (19 ต.ค.) นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานธนารักษ์จังหวัดบุรีรัมย์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชาวบ้านใน ต.ลำไทรโยง อ.นางรอง กว่า 100 คน ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่โบราณสถาน ปราสาทสระตะโก ซึ่งเป็นเมืองโบราณก่อนประวัติศาสตร์ อายุราวกว่า 2,000 ปี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 บริเวณบ้านโคกแร่ ต.ลำไทรโยง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2478 เนื้อที่ทั้งหมดกว่า 120 ไร่

หลังชาวบ้านร้องเรียนว่ามีประชาชน กลุ่มนายทุน และนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไปบุกรุกแผ้วถางทำประโยชน์ ปลูกพืช มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และสร้างที่พักในพื้นที่บริเวณดังกล่าวเนื้อที่กว่า 60 ไร่ บางรายมีการออกเอกสารสิทธิถือครองด้วย ทำให้พื้นที่โบราณสถานที่ยังไม่ได้ขุดค้นได้รับความเสียหาย

จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวพบเป็นชุมชนเก่าแก่ พบร่อยรอยการหลอมโลหะ แต่กลับถูกนายทุน นักการเมืองท้องถิ่น และประชาชนบุกรุกแผ้วถางทำประโยชน์จริง ดูจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่าพื้นที่โบราณสถานถูกบุกรุกไปกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 60 ไร่

โดยทางสำนักศิลปากรที่ 12 จะได้ร่วมกับธนารักษ์จังหวัดประสานกับสำนักงานที่ดิน อ.นางรอง เข้าไปสอบชี้แนวเขตว่ามีผู้บุกรุกพื้นที่จริงแล้วจำนวนทั้งหมดกี่ราย เนื้อที่กี่ไร่ หากพบว่าผู้บุกรุกรายใดมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบจะต้องเพิกถอนสิทธิครอบครองทันที และหากมีการขุดทำลายกำแพงเมือง คูเมืองโบราณ จะมีโทษตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 32

นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสำนักศิลปากรที่ 12 ได้แจ้งไปยังสำนักงานที่ดิน อ.นางรอง ตั้งแต่ปี 2554 ให้กำหนดเขตที่ดินพื้นที่โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่กลับปล่อยล่วงเลยมาจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการ ทำให้ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกทำประโยชน์สร้างความเสียหายแก่พื้นที่โบราณสถานที่ยังไม่มีการขุดค้น

อย่างไรก็ตาม หลังการลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งนี้ ทางสำนักศิลปากรที่ 12 จะร่วมกับธนารักษ์จังหวัดนำข้อมูลให้ทางสำนักงานที่ดิน อ.นางรองเข้าไปสำรวจชี้แนวเขตให้ชัดเจนอีกครั้ง ส่วนผู้ที่บุกรุกจะดำเนินการตามขั้นตอน รวมไปถึงการเพิกถอนสิทธิกรณีออกเอกสารสิทธิทับที่โบราณสถานโดยมิชอบด้วย

ด้าน นายประกอบ จันทร์ไทย กำนัน ต.ลำไทรโยง กล่าวว่า ตนพร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านได้เข้ามาทักท้วงกลุ่มนายทุนและนักการเมืองท้องถิ่นแล้ว แต่ถูกอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวมีเอกสารสิทธิ น.ส.3 ทำให้ไม่เชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถออกเอกสารสิทธิได้ จึงเข้าร้องเรียนต่อทางอำเภอ และสำนักศิลปากรที่ 12 ให้เข้ามาตรวจสอบเพิกถอนสิทธิตามที่ผู้บุกรุกกล่าวอ้าง หากไม่มีการดำเนินการใดๆ จะมีประชาชน นายทุน และนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไปบุกรุกถือครองไปจนหมดสิ้น

ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ใช้พื้นที่ป่าสาธารณะและพื้นที่ของโบราณสถานแห่งนี้ที่มีอยู่กว่า 5,000 ไร่ ร่วมกันโดยการเข้าไปเก็บเห็ดหาของป่าไปบริโภค และขายเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว หากเจ้าหน้าที่สามารถทวงคืนพื้นที่ดังกล่าวกลับมาได้ ชาวบ้านในตำบลจะตั้งคณะกรรมการเข้ามาฟื้นฟู ดูแลอนุรักษ์ให้เป็นเมืองโบราณของชุมชนต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น