xs
xsm
sm
md
lg

“งานหัตกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า” หัวหิน อาชีพที่ “ในหลวง ร.๙” พระราชทานกว่า 50 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - อาชีพทอผ้าบ้านเขาเต่า อำเภอหัวหิน หนึ่งในงานหัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานให้แก่ชาวบ้าน นับเป็นอีกหนึ่งโครงการพระราชดำริของพระองค์มากว่า 50 ปี ที่ต้องการให้ชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารมีอาชีพเสริม วันนี้ “กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า” ยังได้สืบสานงานของพระองค์ท่านมาถึงปัจจุบันนี้ สิ่งสำคัญยังได้มีโอกาสเข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลเหรียญทองคำ “คนขยัน” อีกด้วย พร้อมเตรียมทอผ้ากี่กระตุกขาว/ดำ 9 เส้น เพื่อนำไปประดับที่ที่บริเวณหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญู และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

“เสียงกี่” ที่กระทบกันอยู่ตลอดเวลาของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า โครงการพระราชดำริ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่เคยเงียบเสียงลงไป แม้จะผ่านเวลาล่วงเลยถึง 50 ปีแล้ว และภายในอาคารของโรงทอผ้าแห่งนี้ นอกจากยังคงมีผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไปที่ยังคงทอผ้าแบบกี่กะตุกกันอยู่แล้ว ณ ปัจจุบันส่วนหนึ่งก็เป็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาร่วงกันทอผ้ากันอยู่
ป้าอมลวรรณ เอี่ยมสำอางค์ อายุ 68 ปี ชาวบ้านเขาเต่า ปัจจุบันยังคงทอผ้าและยังทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า โครงการพระราชดำริ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ป้าอมลวรรณ เอี่ยมสำอางค์ อายุ 68 ปี ชาวบ้านเขาเต่า ปัจจุบันยังคงทอผ้า และยังทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า ได้เล่าย้อนหลังไปเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมาว่า หมู่บ้านเขาเต่าในสมัยนั้นเป็นหมู่บ้านที่ประสบปัญหาทั้งเรื่องแหล่งน้ำ การคมนาคม และชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมง ส่วนผู้หญิงก็อยู่กับบ้าน

ป้าอมลวรรณ เอี่ยมสำอางค์ กล่าวว่า กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า ถือเป็นอาชีพที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งในช่วงนั้นพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน หลายครั้ง และทุกครั้งพระองค์จะต้องเสด็จฯ ออกเยี่ยมเยือนราษฏร จนมาหมู่บ้านเขาเต่า และได้เห็นสภาพปัญหาของที่นี่ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำ

พระองค์ท่านก็เข้ามาแก้ไขวางแผนให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าขึ้นมา ส่วนชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงสามีไปออกเรือ พระองค์ท่านก็ได้จัดเจ้าหน้าที่จากจังหวัดราชบุรี มาสอนการทอผ้ากี่กระตุก การย้อมผ้า การออกแบบลวดลาย การตัดเย็บให้แก่ชาวบ้านเขาเต่า เพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว นอกจากการออกเรือหาปลา ซึ่งในช่วงนั้นป้าอายุยังไม่ถึง 20 ปี ก็ได้มีโอกาสเรียนการทอผ้าจากเจ้าหน้าที่ที่พระองค์ท่านให้มาสอนให้ความรู้ รุ่นนั้นที่ป้าเรียนมีประมาณ 13 คน

ช่วงนั้นมีผู้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินให้พระองค์ท่าน และมีการสร้างโรงทอผ้าให้แก่ชาวบ้านเขาเต่า พร้อมกี่กระตุก และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อไว้ให้ชาวบ้านในชุมชนได้มาทอผ้ากัน จนเมื่อเรียนจบหลักสูตรการทอผ้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน อีกครั้ง และก็เสด็จพระราชดำเนินมายังหมู่บ้านเขาเต่า มาเยี่ยมเยือนราษฏร ซึ่งชาวบ้านเขาเต่าได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จพระองค์ท่านหลายครั้ง

ในครั้งนั้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2509 เจ้าหน้าที่มาแจ้งให้ทราบว่า ผู้ที่เรียนทอผ้าจบแล้ว พระองค์ท่านจะให้เข้ารับพระราชทานรางวัลเหรียญทองคำ “คนขยัน” จำนวน 13 ราย ตอนนั้นยอมรับว่าป้ารู้สึกดีใจมากจนบอกไม่ถูก ซึ่งในวันพระราชทานเหรียญทองคำคนขยัน ทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ มาเยี่ยมชมโรงทอผ้าด้วย และได้มีโอกาสเข้าเฝ้ารับเหรียญพระราชทานทองคำคนขยัน จากพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน และได้เก็บรักษาเหรียญรางวัลมาจนถึงปัจจุบันนี้

ป้าอมลวรรณ เอี่ยมสำอางค์ ยอมเอาเหรียญพระราชทานทองคำรางวัล “คนขยัน” ออกมาให้ดู พร้อมกับกล่าวว่า ไม่ค่อยได้นำออกมาให้ใครดู เพราะถือเป็นของสำคัญที่สุดของชีวิต

สำหรับเหรียญทองคำคนขยันมีน้ำหนัก 1 บาท 1 เฟื้อง ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีของชาวบ้านเขาเต่าเป็นอย่างมาก ที่พระองค์ได้มาพระราชทานอาชีพหัตกรรมด้านทอผ้ากี่กระตุก ทำให้วันนี้กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่าที่ยังเหลืออยู่ได้ทำหน้าที่สืบสานงานของพระองค์ท่าน ด้วยการทอผ้ากี่กระตุกมาจนถึงปัจจุบันนี้ จากแรกๆ เป็นอาชีพเสริม แต่ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลักของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่าไปแล้ว สิ่งสำคัญได้สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุที่มาร่วมถักทอผ้ากี่กระตุกกัน
เหรียญทองคำ คนขยัน
วันนี้พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตไปแล้ว ชาวบ้านเขาเต่าส่วนใหญ่เสียใจเป็นอย่างมาก แต่นึกถึงพระองค์ท่าน เพราะพระองค์ท่านมองการณ์ไกลมาโดยตลอด และนับจากนี้ต่อไปกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า ก็จะคงทำหน้าที่สืบสานงานศิลปหัตกรรมทอผ้ากี่กระตุก อาชีพพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านได้พระราชทานให้ไว้ต่อไป

ตอนนี้ทางกลุ่มสตรีทอผ้าเขาเต่า กำลังจะเริ่มลงมือช่วยทอผ้า 9 เส้น ซึ่งหมายถึงรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะเป็นสีขาว และสีดำ เพื่อนำไปประดับที่บริเวณหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของอาคารกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งอย่างน้อยประมาณ 1 เดือน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวง พ่อของแผ่นดินที่ทรงมีต่อชาวบ้านเขาเต่า

กำลังโหลดความคิดเห็น