อ่างทอง - ผู้ว่าฯ อ่างทอง ร่วมพิธีบวงสรวง “พระเจดีย์บรรจุอัฐิพระราชมนู” ทหารเอกคู่ใจสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้คืนคงความเป็นชาติให้ชาวสยาม เตรียมปฏิสังขรณ์เจดีย์ พร้อมสร้างรูปหล่อบูชาทหารเอกคู่พระทัยสมเด็จพระนเรศวร
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่วัดช้าง ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นางทักษณิภร ปุตระเศรณี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอ่างทอง นายรณชัย จิตรวิเศษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายอำเภอเมืองอ่างทอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอ่างทอง ร่วมพิธีบวงสรวงพระเจดีย์บรรจุอัฐิพระราชมนู ทหารเอกคู่ใจสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้คืนคงความเป็นชาติให้ชาวสยาม โดยมี พระครูสุวัฒน์วรกิจ เจ้าอาวาสวัดช้าง พร้อมประชาชนเข้าร่วมในพิธี เพื่อเตรียมการจัดสร้างรูปหล่อบูชาหลวงพ่อเพชร หรือพระราชมนู ทหารเอกคู่พระทัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และบูรณะเจดีย์บรรจุอัฐิของพระราชมนู และภรรยา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์
พระราชมนู หรือออกญาพระสมุหกลาโหม เป็นทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นทหารที่เก่งกล้า และมีความสามารถ นอกจากนั้น ยังเป็นทหารคู่พระทัยของสมเด็จพระนเรศวรอีกด้วย ซึ่งพระราชมนู มักออกศึกเคียงคู่พระนเรศวรในการตีเมืองต่างๆ เสมอ และสามารถชนะกลับมาได้เกือบทุกครั้ง รวมถึงศึกยุทธหัตถี ที่ตำบลหนองสาหร่าย ภายหลังพระราชมนู ได้รับการโปรดเกล้าจากสมเด็จพระนเรศวร ให้เป็นออกญาพระสมุหกลาโหม เป็นแม่ทัพที่เก่งกล้าสามารถผู้หนึ่งที่กองทัพไทยเคยมีมา เป็นแม่ทัพในศึกสำคัญๆ หลายครั้ง เช่น ศึกพิชิตทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ ศึกนันทบุเรงล้อมกรุง ศึกตีทัพพระมหาอุปราชาแตกครั้งแรกที่เมืองกาญจน์ ศึกยุทธหัตถี ไปจนถึงศึกตีเมืองละแวก และหลังจากที่พิชิตละแวกได้ในครั้งนี้นี่เอง ที่พระราชมนู ได้รับการอวยยศให้เป็น “ออกญามหาเสนา ว่าที่สมุหพระกลาโหม” ซึ่งเป็นตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ คุมกิจการทหารทั่วทั้งพระราชอาณาจักร
ในสมัยอยุธยา พ.ศ.2128 มีการรบที่ทุ่งบางแก้ว พระราชมนู แม่กองระหว่างหน้า ได้ใช้วัดช้าง เป็นที่ตั้งทัพ 10,000 นาย โดยส่งกองทหารออกลาดตระเวนดูกองกำลังของกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ ที่เป็นแม่ทัพหน้าพม่า ซึ่งการรบครั้งนี้เป็นการรบแบบกองโจรครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำกองทัพไทยได้รับชัยชนะ และทรงโปรดให้นำพระราชทรัพย์มาปฏิสังขรณ์ วัดช้าง (ช้างให้) โดยพระราชมนู (เพชร) ให้พ่อครูดาบพลอย ใช้เรือกระแชง นำไปขนทองคำ และพัสดุที่จำเป็นจากกรุงศรีอยุธยา มาช่วยบูรณะ
หลังจากเปลี่ยนแผ่นดิน พระราชมนู ได้ลาออกจากราชการในตำแหน่งพระสมุหกลาโหม แล้วบวชอยู่ที่วัดช้างให้ จนสิ้นอายุขัย ทางคณะศิษย์ และชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิพระราชมนู รูปทรงกลม (ระฆังคว่ำ) บรรจุศพทหารเอกคู่ใจสมเด็จพระนเรศวร พระราชมนู ตั้งอยู่ในวัดช้าง (ช้างให้) ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นเจดีย์รูปทรงกรม (ระฆังคว่ำ) สมัยอยุธยาตอนปลาย บรรจุอัฐิพระราชมนู ทหารเอกคู่ใจสมเด็จพระนเรศวร พร้อมด้วยเจดีย์บรรจุอัฐิภรรยาพระราชมนู