xs
xsm
sm
md
lg

สระแก้ว จัดงานประเพณีแซนโฏนตา บูชาบรรพบุรุษตำนานที่สืบทอดกันมานานนับพันปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สระแก้ว - จังหวัดสระแก้ว จัดงานประเพณีแซนโฏนตา บูชาบรรพบุรุษตำนานที่สืบทอดกันมานานนับพันปีของชุมชนชาวพื้นที่อำเภอตาพระยา

วันนี้ (30 ก.ย.) ที่บริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) วัดตาพระยา อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา เป็นประธานในการประกอบพิธีแซนโฎนตา (โดนตา) บูชาบรรพบุรุษ

โดยอำเภอตาพระยา จัดร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลทัพไทย หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวอำเภอตาพระยา ให้คงอยู่สืบไป โดยจัดให้มีขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ขบวนแห่การประดับรถเครื่องแซนโฎนตา โดยมีประชาชนจากชุมชนต่างๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา กล่าวว่า ประเพณีแซนโฎนตา หรือสราทเขมร อาจจะเรียกว่า ประเพณีแซนโฎนตา ของชาวไทยเชื้อสายเขมรที่อยู่พื้นที่อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งประกอบด้วย ชาวบ้านตำบลตาพระยา ตำบลทัพไทย ตำบลทัพเสด็จ ตำบลโคคลาน ตำบลทัพราช ถือว่าเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทยเชื้อสายเขมร

ประเพณีแซนโฎนตา เป็นประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษของเขมรชาวไทยเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ย้อนรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้มีพระคุณที่ได้สืบสานขนบธรรมเนียมที่ลูกหลานต้องปฏิบัติต่อบิดา มารดา ครูอาจารย์ และยึดหลักคำสอนทางพุทธศาสนา คำว่า “แซน” แปลว่า เซ่นไหว้ในภาษาไทย ส่วนคำว่า “โฎนตา” เป็นคำนามที่ใช้เรียกบรรพบุรุษ หมายถึงญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบของทุกปี จะเป็นวันสำคัญ คือ วันสารทใหญ่ของชาวไทยเชื้อสายเขมรก็ว่าได้ ลูกหลานที่ไปอยู่ที่อื่นก็จะกลับมาทำพิธีนี้ อย่างพร้อมเพรียงกัน ผู้ที่เป็นบุตรหลานทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นลูกเขย หรือลูกสะใภ้จะต้องส่งข้าวสาร หรือเครื่องเซ่นนี้ไปให้พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เพื่อให้ท่านได้ใช้เครื่องเซ่นนั้นทำพีเซ่นต่ออีกทีหนึ่ง ก็จะมอบสิ่งของตอบแทนให้ จะเป็นผ้าซิ่น ผ้าไหม หรือสิ่งใดก็แล้วแต่เป็นรางวัลให้ลูกหลานผู้รู้จักกตัญญู

ในช่วงค่ำวันนี้จะมีการเริ่มทำพิธีเซ่นไหว้กัน เมื่อพี่น้องลูกหลานมากันพร้อมหน้ากันแล้วก็จะจุดธูปเทียน โดยผู้ที่มีอาวุโสสุดจะเป็นผู้บอกกล่าวอัญเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรำลึกกตัญญู ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นสืบต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น