ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ธ.ก.ส.ขอนแก่นผนึกทุกภาคส่วนยกระดับรายได้เกษตรกรหลังทำนาปี ชูโครงการ “ขอนแก่นโมเดล” ใช้ตลาดนำการเพาะปลูก ชูจุดแข็งเกษตรกรมีตลาดรองรับแน่นอน เข็น 4 พืชเศรษฐกิจหลัก ตะไคร้ พริก หมาก และพลู ขณะที่ ธ.ก.ส.พร้อมหนุนด้านสินเชื่อ ตั้งเป้าเกษตรกรร่วมโครงการ 5,000 ครัวเรือน หรือกว่า 20,000 ไร่
นายธนู โตสัจจะ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ขอนแก่นได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 19 หน่วยงาน เช่น พาณิชย์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร กลุ่มสหกรณ์การเกษตรต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรใน จ.ขอนแก่น หลังเสร็จสิ้นเก็บเกี่ยวข้าวนาปี สามารถใช้นาข้าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพาะปลูกพืชเกษตรที่มีตลาดรองรับแน่นอน ยกระดับรายได้เกษตรกร เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เริ่มต้นในฤดูกาลผลิต 2559/2560 นี้
ภายใต้โครงการ “การพัฒนาการผลิตพืชผักสวนครัว เชื่อมโยงการตลาดตลอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร” หรือเรียกเข้าใจง่ายๆ ว่า “ขอนแก่นโมเดล” ในการผลิตสินค้าเกษตร โดยใช้ตลาดนำการเพาะปลูกพืชเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับแน่นอน เกษตรกรไม่มีความเสี่ยง จะมีกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร สหกรณ์การเกษตร รวมถึงพาณิชย์จังหวัดมารับผิดชอบตลาด ธ.ก.ส.ให้การสนับสนุนสินเชื่อทั้งการปรับปรุงการผลิต ปรับปรุงดิน ฯลฯ
ขณะเดียวกันจะมีการวิเคราะห์คุณภาพดินในแปลงนาว่าเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชที่ส่งเสริมหรือไม่ มีแหล่งน้ำใต้ดินรองรับ และกษตรกรกรจะต้องปรับปรุงระบบการผลิต โดยจะมีหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเฉพาะด้านเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ร่วมโครงการในด้านต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมาย ยกระดับรายได้เกษตรกรได้อย่างแท้จริง
นายธนูกล่าวต่อว่า พืชเศรษฐกิจ 4 ชนิดที่ส่งเสริม ประกอบด้วย ตะไคร้, พริก, หมาก, และพลู ที่มีตลาดรองรับแน่นอน มีราคารับซื้อที่น่าสนใจ ราคาอาจปรับขึ้นได้ตามกลไกตลาดความต้องการในอนาคต ซึ่งพืชทั้ง 4 ชนิดเป็นที่ต้องการสูงโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ จึงให้การส่งเสริมปลูกตามโครงการขอนแก่นโมเดลนี้ ตั้งเป้าหมายจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการขอนแก่นโมเดลกว่า 20,000 ไร่ หรือประมาณ 5,000 ครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 4 ไร่
ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าวมาแล้ว โดยส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงหลังเสร็จเก็บเกี่ยวข้าวนาปี มีพื้นที่ส่งเสริมเบื้องต้น 1,000 ไร่ ผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จน่าพอใจ จึงได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องในรูปแบบขอนแก่นโมเดลปีนี้ และส่งเสริมพืชเป็น 4 ชนิดดังกล่าว