xs
xsm
sm
md
lg

จับนายทุนเมืองเพชรรุกป่าสงวนผุดรีสอร์ตข้างแหล่งท่องเที่ยว “พุน้ำร้อนหนองหญ้าปล้อง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี - เจ้าหน้าที่ป่าไม้เพชรบุรี สนธิกำลังหทาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองบุกเข้าจับนายทุนเมืองเพชรบุรีรุกป่าสงวนแห่งชาติ ปลูกรีสอร์ตข้างแหล่งท่องเที่ยว “พุน้ำร้อนหนองหญ้าปล้อง” เจ้าตัวอ้างไม่ทราบว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (26 ก.ย.) นายอัครชัย เสรีลัดดานนท์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันไฟป่าและควบคุมไฟป่าสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร กกล.รส.จว.เพชรบุรี ตำรวจ สภ.หนองหญ้าปล้อง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอหนองหญ้าปล้อง นำกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาป่าที่ 1 ยางชุมเพชรบุรี เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันป่าที่ 2 ห้วยเกษม กว่า 50 นาย เดินทางเข้าตรวจสอบบ้านพักไม่มีเลขที่หมู่ 5 ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี หลังได้รับร้องเรียนว่ามีการบุกรุกพื้นที่ผ่าสงวนแห่งชาติ

ตรวจสอบพบพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากบ่อน้ำพุร้อนหนองหญ้าปล้อง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประมาณ 500 เมตร มีการทำถนนซีเมนต์ขนาดกว้างประมาณ 8 เมตร เชื่อมต่อกับถนนเส้นพุน้ำร้อน

ภายในพบบ้านพักชั้นเดียว จำนวน 5 หลัง ห้องน้ำรวม 1 หลัง แท่นเก็บกักน้ำประปาสูงประมาณ 15 เมตร 1 แท่น ตรวจวัดค่าพิกัดโดยรอบพื้นที่โดยใช้เครื่องมือหาค่าพิกัดจากสัญญาณดาวเทียม GPS ในระบบ Datum WGS 84 จำนวน 5 จุด พบพื้นที่ดังกล่าวบุกรุกตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยางน้ำกลัดเหนือ ยางน้ำกลัดใต้ รวม 7 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา

ขณะเข้าตรวจสอบ นายสุธรรม อิ่มสำเภา อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40 หมู่ 5 ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ได้มาแสดงตัวเป็นเจ้าของพื้นที่ และสิ่งปลูกสร้าง สอบถาม นายสุธรรม สารภาพว่า ที่ดินดังกล่าวทั้งหมดไม่มีเอกสารสิทธิ ตนรับช่วงต่อมาจากพี่ชายที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยมาครอบครองทำประโยชน์เมื่อปี 2538 และได้ทำบ้านพักให้เช่าตั้งแต่ประมาณปี 2555 ในราคาคืนละ 700 บาท เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่ทราบว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ นายสุธรรม หยุดดำเนินการ และควบคุมตัวแจ้งข้อกล่าวหาบุกรุกก่อสร้างแผ้วถาง หรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และบุกรุกทำลายป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ศ.2559 สำหรับมูลค่าความเสียหายของรัฐ เจ้าหน้าที่จะได้ประสานผู้ชำนาญงานการด้านการประเมินมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น