xs
xsm
sm
md
lg

ประชาพิจารณ์รอบ 3 เสริมทรายป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะหาดจอมเทียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมเจ้าท่า เร่งดันโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบ เพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะ จัดประชาพิจารณ์รอบ 3 ก่อนสรุปแผนแม่บท เสนอขอจัดสรรงบประมาณกว่า 1,000 ล้าน แก้ปัญหาชายหาดจอมเทียนถูกน้ำทะเลกัดเซาะรุนแรง หากไม่มีแผนรองรับในระยะ 25 ปี อาจส่งผลกระทบท่องเที่ยว

วันนี้ (14 ก.ย.) ที่สถานอบรมคริสเตียนแบ๊บติส ชายหาดจอมเทียนพัทยา จ.ชลบุรี กรมเจ้าท่า จัดการประชุมร่วมกับตัวแทนจากอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา ภาครัฐ เอกชน ประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำเสนอรูปแบบและรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 3

โดยมี นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นประธานในพิธี รวมด้วย นายชาคร กัญจนะวัตตะ นายอำเภอบางละมุง คณะสมาชิกสภาเมืองพัทยา พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการให้การต้อนรับ ท่ามกลางประชาชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ด้าน รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุวงศ์สกุล หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่ามีความจำเป็น และมีความต่อเนื่องมาจากการวางแผนแม่บทเสริมทรายชายหาดพัทยา เนื่องจากการตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการพบว่า ชายหาดจอมเทียนตลอดแนวในระยะทางยาวรวมกว่า 14 กม. ตั้งแต่บริเวณท่าเรือบาลีฮาย พัทยาใต้ ไปจนถึงท่าเทียบเรือโอเชี่ยน มารีน่า ในพื้นที่นาจอมเทียนนั้น มีปัญหาการกัดเซาะรุนแรงเช่นกัน

ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากเรื่องการปรับเปลี่ยนของกระแสคลื่น และลมมรสุม รวมทั้งปัญหาเรื่องของโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ตะกอนทรายถูกกระแสน้ำพัดออกจากชายฝั่งอย่างรุนแรง ซึ่งมีค่าความสูญเสียอยู่ที่ปีละกว่า 80,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สถานการณ์นี้หากปล่อยไว้ในระยะ 25 ปี ก็จะทำให้ชายหาดหายไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรงในอนาคต

จากปัจจัยดังกล่าว กรมเจ้าท่า จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บ.เอ็นแคด คอนซัลแตนท์ จำกัด เข้ามาทำการศึกษาและวางแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาด้วยการเสริมทรายชายหาดขึ้น ซึ่งก็ได้มีการจัดทำมาแล้วระยะหนึ่ง ก่อนจะมีการหารือร่วมกับภาคประชาชนเพื่อขอรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อจัดทำแผนอย่างสมบูรณ์ และดำเนินการอย่างเร่งด่วน

จากผลการศึกษา คณะผู้จัดทำได้ร่างแนวทางป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดจอมเทียนไว้หลายแนวทาง กระทั่งล่าสุด จากการสอบถามความคิดเห็น และการสนับสนุนจากภาคประชาชนในพื้นที่พบว่า ร้อยละ 79.37 เห็นชอบให้มีการดำเนินการในรูปแบบที่ 5 ซึ่งนอกจากจะมีการเสริมทรายในระยะ 35 เมตรแล้ว ยังจะมีการก่อสร้างหัวหาด 1 จุด เขื่อนกันคลื่น จำนวน 3 จุด คันดักทราย จำนวน 2 จุด และการจัดทำลานสวนสาธารณะอีกด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ แผนการดังกล่าวหลังจากที่ได้ทำการก่อสร้างหัวหาดและแนวกันคลื่นแล้วเสร็จ ก็จะดำเนินการเสริมทรายในพื้นที่ที่มีปัญหารุนแรงจากช่วงพื้นที่ชายหาด บริเวณหน้าโรงแรมพัทยาปาร์ค ไปจนถึงปากคลองนาจอมเทียน ในระยะทางยาวกว่า 7 กม. รวมทั้งการจัดสร้างสวนสาธารณะความยาว 1.6 กม. ซึ่งตามโครงการนี้จะใช้ทรายทั้งสิ้นจำนวนกว่า 1.5 ล้าน ลบ.ม. และงบประมาณในการดำเนินโครงการกว่า 995 ล้านบาท ในระยะเวลาการทำงานรวม 2 ปี 4 เดือน โดยในขั้นตอนของการปฏิบัตินั้นจะมีการเสริมทรายในทุกระยะ 200 เมตร จากจุดเริ่มของโครงการ ไปจนกว่าจะแล้วเสร็จเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ

รศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีการเสริมทรายชายหาด มีข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับกรณีของการจัดหาแหล่งทรายที่จะนำมาใช้ในการเสริมชายหาด ซึ่งกรณีนี้คณะผู้จัดทำได้ทำการออกหาข้อมูล และแหล่งทรายที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง กระทั่งพบแหล่งทรายขนาดใหญ่ที่มีคุณสมบัติ และมาตรฐานเหมาะสมใกล้เคียงกับพื้นที่ชายหาดเดิม

โดยจะเป็นแหล่งทรายใต้ทะเลที่ความลึกกว่า 20 เมตร บริเวณเกาะลางเกวียน ห่างจากฝั่งประมาณ 11 กม. หรือห่างจากเกาะล้านประมาณ 13 กม. ซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่ใช้ทรายที่นำมาเสริมในพื้นที่ชายหาดพัทยา ซึ่งพบว่า มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้งานได้ในระยะหลายปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเสริมทรายชายหาดจอมเทียนหลังดำเนินการแล้วเสร็จในช่วง 3 ปีแรก ย่อมเกิดผลกระทบจากการกัดเซาะเช่นเดิมเฉลี่ยปีละประมาณ 5 เมตร หลังจากพ้นระยะดังกล่าวสภาพชายหาดก็จะปรับสมดุลให้คงสภาพ ดังนั้น ในช่วงทุกๆ 5 ปี คงต้องเตรียมแผนในการเติมทรายเพิ่มเติมประมาณปีละ 1.2 หมื่น ลบ.ม. หรือประมาณ 1.27 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ หลังจากการประชุมร่วมผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียในโครงการแล้วเสร็จ ก็จะได้นำแผนไปปรับแก้อีกครั้ง ก่อนนำเสนอไปยังกรมเจ้าท่าเพื่อนำโครงการยื่นเสนอขออนุมติต่อภาครัฐบาลต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น