มหาสารคาม - รองผู้ว่าฯ มหาสารคามแฉกลโกงสอบพนักงาน อบต.จนต้องไล่พ้นตำแหน่ง 32 แห่ง นำผลสอบที่ตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ทิ้งแล้วกรอกคะแนนใหม่ ใส่ชื่อบุคคลตามใบสั่ง เฉพาะสนามสอบ มรภ.กาฬสินธุ์สอบผ่านเกณฑ์ 60% แค่ 1 คน แต่แก้ผลคะแนนให้ผู้สอบไม่ผ่านเป็นผู้สอบได้ขึ้นบัญชีไว้กว่า 422 คน เผยเรียกเงินค่าตอบแทนรายละหลายแสนบาท อ้างเป็นค่าวิ่งเต้นผู้ใหญ่ ประเมินวงเงินไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท
หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามลงดาบเชือด 32 อบต.ให้พ้นจากตำแหน่ง ฐานทุจริตสอบพนักงาน อบต.ประจำปี 2557 จนเป็นที่ฮือฮาไปทั่วประเทศเสมือนหนึ่งเชือดไก่ให้ลิงดู เพราะยังมีผู้บริหาร อบต.อีกจำนวนไม่น้อยที่มีพฤติกรรมทุจริตและอยู่ระหว่างการสอบสวนหาหลักฐานมัดตัว
ล่าสุด นายเสฐียรพงศ์ มากศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตการสอบแข่งขันบุคคลเพื่อบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบล ได้เล่าถึงกระบวนการตรวจสอบจนสามารถเอาผิด 32 นายก อบต.ข้างต้นอย่างละเอียดทุกขั้นตอน
นายเสฐียรพงศ์เปิดเผยถึงกระบวนการตรวจสอบการทุจริตในครั้งนี้ว่า ได้ตรวจเอกสารหลักฐานทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและพยานบุคคลอย่างรอบด้าน รัดกุม และยุติธรรม ส่วนการเอาผิดด้านอาญาเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตัดสิน ซึ่ง อบต.ในจังหวัดมหาสารคามได้ทำการเปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบล จำนวน 31 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์จัดสอบ 19 อบต. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสอบจำนวน 12 อบต. แต่มีการร้องเรียนว่ามีการทุจริตเรียกเงินจากผู้สมัครสอบ
ทางจังหวัดมหาสารคามจึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา ผลปรากฏว่าพบหลักฐานมีการทุจริตทั้ง 2 สนาม ต่อมาทาง ก.อบต.กลางได้สั่งเพิกถอนการบรรจุพนักงานของ 19 อบต.ที่สอบโดยมหาวิยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ในปี 2557 และเสนอเรื่อง 12 อบต.ที่จัดสอบโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปยัง ก.อบต.กลาง ให้ยกเลิกผลการสอบปี 2556 และปี 2557 การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบล
นายเสฐียรพงศ์เล่าถึงขั้นตอนการทุจริตว่า ทางคณะกรรมการได้ทำงานอย่างหนักเพื่อจะได้มีหลักฐาน โดยหลักฐานสำคัญคณะกรรมการได้ขอคะแนนผลสอบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์มาตรวจสอบ และผลประกาศของ อบต. 19 แห่งปรากฏว่าผลคะแนนไม่ตรงกัน เนื่องจากคะแนนของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์มีผู้สอบผ่านเกณฑ์ 60 เปอร์เซ็นต์เพียง 1 คนเท่านั้น มีการแก้ผลคะแนนให้ผู้สอบไม่ผ่านเป็นผู้สอบได้ มีการขึ้นบัญชีไว้กว่า 422 คนว่าสอบผ่าน
ถือเป็นหลักฐานที่มัดแน่นเพราะเรายึดหลักฐานจากทางมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ในการสืบสวนเชิงลึกทราบว่ามีการทำเป็นขบวนการรับงานมา อ้างว่าสามารถติดต่อให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ช่วยได้ ซึ่งก็ปรากฏแล้วว่าไม่จริง เพียงการแอบอ้างหาผลประโยชน์เท่านั้น ส่วนกรณีการสอบของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงแรกค่อนข้างจะยุ่งยาก ถึงแม้เราจะมีข้อมูลในมือแล้วก็ตาม เนื่องจากหลังสอบถามผลคะแนนไปเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับทาง อบต. ทางเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการจัดสอบ อ้างว่าผลคะแนนตรงกันหมด
แต่จากการตรวจกระดาษข้อสอบซึ่งใช้ดินสอพบพิรุธมากมาย เช่น นอกจากจะมีร่องรอยการลบแก้ไขจนเละเทะสกปรกแล้ว ข้อที่ถูกแก้ไขยังตอบถูกหมด และข้อสอบจากข้อ 1-44 ตอบถูกหมด บางคนตอบถูกตั้งแต่ข้อ 50-90 ก็มีส่วนข้อผิดก็จะผิดเหมือนๆ กัน จึงขอให้ผู้เชี่ยวชาญการประเมินผลจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามช่วยวิเคราะห์ ผลการประเมินพบว่าลักษณะที่เกิดขึ้นผิดธรรมชาติ จะเกิดจากข้อสอบรั่วหรือลอกกัน
“เมื่อสอบถามผู้รับผิดชอบการจัดสอบก็อ้างว่าเป็นการตรวจข้อสอบด้วยมือ แต่เราก็ไม่เชื่อเพราะกระดาษเป็นของศูนย์คอมพิวเตอร์ จึงขอผลจากทางศูนย์บริการการศึกษาจุฬาฯ ความจริงจึงปรากฏว่าเป็นการตรวจด้วยเครื่องและผลปรากฏว่ามีผู้สอบผ่านเพียง 4 คนเท่านั้น แต่มีการขึ้นบัญชีผู้สอบผ่านถึง 236 คน”
โดยการทุจริตมีการนำผลที่ได้จากคอมพิวเตอร์ทิ้งไป แล้วเขียนปลอมคะแนนขึ้นใหม่ ใส่ชื่อบุคคลตามใบสั่ง นี่คือการทำงานหาข้อมูลของเรา ขณะนี้ข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่ ป.ป.ช.แล้ว ส่วนแรงจูงใจการกระทำผิดทราบว่าแก๊งพวกนี้ชอบแอบอ้างผู้ใหญ่ว่าสามารถช่วยเข้ารับราชการได้ โดยเรียกเงินค่าตอบแทนรายละหลายแสนบาทเป็นค่าวิ่งเต้นประเมินว่าวงเงินไม่น่าจะต่ำกว่า 400 ล้านบาท
“นับเป็นภัยต่อสังคมเพราะบรรดาผู้ปกครองเด็กก็อยากให้บุตรหลานมีงานทำก็ไปกู้มาหรือนำหลักทรัพย์ไปจำนองเพื่อจะได้เงินมา ในส่วนของผู้สอบขณะนี้ได้เยียวยา โดยประกาศผลสอบออกมาและบรรจุเข้าเป็นพนักงานส่วนตำบลเรียบร้อยแล้ว” นายเสฐียรพงศ์กล่าว และว่า
ในส่วนของค่าเสียหายของทางราชการที่ต้องฟ้องร้องทางแพ่ง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการดำเนินการสอบ เป็นเงิน 2.6 ล้าน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทางราชการได้จ่ายไปก่อนหน้านี้เป็นค่าสวัสดิการอื่นๆ เงินเดือนเบี้ยเลี้ยง ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 45 ล้านบาท รวมเป็นค่าเสียหายของภาครัฐเป็นเงินรวมกว่า 47 ล้านบาท
รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามกล่าวอีกว่า ตนอยู่กับปกครองส่วนท้องถิ่นมายาวนาน ทราบถึงความต้องการของท้องถิ่นว่าต้องการอะไร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นล้วนต้องการอยากให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ได้รับการบริการสาธารณะจากท้องถิ่นอย่างเต็มกำลังความสามารถ ถึงแม้จะมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ แต่ทุกคนก็พยายามทำเพื่อความผาสุกของประชาชน
องค์กรปกครองส่วนท้องงถิ่นมีมากถึง 7 พันกว่าแห่ง แม้มีท้องถิ่นบางส่วนทำไม่ถูกต้อง แต่เป็นความเสียหายต่อภาพรวมทั้งประเทศ อยากฝากนายก อบต. หรือหัวหน้าส่วนท้องถิ่นว่า การที่เราเข้ามาทำงานเพื่อประชาชนไม่มีประชาชนคนไหนมาปูผ้าขาวรองรับ มาจุดธุปบูชาขอให้เป็น เราทุกคนล้วนแต่ปวารณาตัวรับใช้ประชาชน และสัญญาว่าจะทำตามนโยบายที่หาเสียงให้
ดังนั้นเมื่อท่านมาเป็นนายก อบต. หรือผู้นำท้องถิ่นแล้ว ก็อยากให้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนอย่างสุดความสามารถ เมื่อประชาชนมีความผาสุก ท่านก็มีความสุขด้วย แต่หากประชาชนไม่มีความสุข ท่านก็ไม่มีความสุขด้วยเช่นกัน ประชาชนก็จะร้องเรียนว่าไม่ได้รับบริการที่ดี ทุกวันนี้รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามการทุจริต ตัดเนื้อร้ายออกไปจากประเทศ อยากให้ทุกคนได้ช่วยกัน เพื่อให้ท้องถิ่นของเราก้าวหน้าต่อไป