xs
xsm
sm
md
lg

ทพ.32 เดินหน้าสอนคนชายแดนน่าน ปั้นโอ่งกับมือรอสู้แล้ง แถมเคลียร์ข้อพิพาทจบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - ทหารพรานเดินหน้าสอนชาวบ้าน 147 หมู่บ้านแนวชายแดนเมืองน่าน ปั้นโอ่งกับมือตัวเอง เก็บน้ำกลางหน้าฝน เตรียมพร้อมรับมือแล้งหน้า พร้อมถือโอกาสใช้เป็น “โอ่งสามัคคี” จับคู่ขัดแย้งลงมือปั้นโอ่งด้วยกัน เปิดทางเคลียร์ข้อพิพาท ก่อนอุ้มไปบริจาควัด ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน



พ.อ.อัศม์พงษ์ นิลพันธุ์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 32 กองกำลังผาเมือง ตรวจเยี่ยมโครงการปั้นโอ่งซีเมนต์เก็บกับน้ำฝนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เดินหน้าเปิดสอนชาวบ้าน 146 หมู่บ้านตามแนวชายแดนเมืองน่าน ภายใต้ความร่วมมือกับฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เพื่อเตรียมรับภัยแล้งปีหน้า

โดยสุดสัปดาห์นี้ได้เดินสายเปิดสอนชาวบ้าน 7 หมู่บ้านในพื้นที่ตำบลห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ กว่า 100 คน ให้สามารถปั้นโอ่งดินขนาดความจุ 1,800 ลิตร สำหรับเก็บกักน้ำฝนได้

นายรัง หอมดอก อายุ 71 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ 7 บ้านห้วยทรายขาว ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียติ จ.น่าน หนึ่งในชาวบ้านที่ให้ความสนใจในการสอนปั้นโอ่ง เปิดเผยว่า ตำบลห้วยโก๋น ช่วงหน้าแล้งจะแล้งจัดมาก ไม่มีน้ำสะอาดใช้ในครัวเรือนทำให้ได้รับความเดือดร้อนทุกปี ซึ่งหากปั้นโอ่งได้เองก็จะทำให้เก็บกักน้ำฝนที่สะอาดไว้ใช้ในหน้าแล้งหน้า จึงพยายามให้ความสนใจเรียนรู้ให้มากที่สุด และจะนำไปสอนลูกหลานที่บ้านให้สามารถปั้นโอ่งได้เอง

ร.อ.ทวีป กองมงคล ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 3203 กล่าวว่า หน้าแล้งทุกปีประชาชนในพื้นที่ตำบลห้วยโก๋น จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนถังน้ำพลาสติกนำมาตั้งตามจุดสาธารณะในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านต้องนำภาชนะมารองน้ำนำกลับไปใช้ในครัวเรือนเอง บางครั้งเมื่อทางราชการนำน้ำสะอาดมาแจกจ่าย ชาวบ้านก็มีภาชนะไม่เพียงพอสำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ได้

การสอนให้ชาวบ้านปั้นโอ่งดินขนาดความจุ 1,800 ลิตร ซึ่งต้นทุนไม่เกิน 1,500 บาท มีอายุการใช้งานยาวนานนับสิบปี จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ เนื่องจากสามารถใช้ดิน และวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้เองในพื้นที่มาทำ หากรั่วซึมชาวบ้านก็สามารถซ่อมได้เอง ต่างจากถังน้ำพลาสติกที่มีราคาสูง ไม่ทนแดดทนฝน อายุการใช้งานเพียง 2-3 ปี ก็จะกรอบ แตก และชาวบ้านซ่อมแซมไม่ได้

นายรามา พาลีขันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาทุ่งช้าง กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน ทาง ธ.ก.ส.จังหวัดน่าน จึงได้ร่วมสนับสนุนเงินงบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น ซึ่งหากโครงการนี้ได้ถูกขยายไปในทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนก็จะทำให้ทุกหลังคาเรือนมีภาชนะที่ราคาถูก อายุการใช้งานยาวนานสำหรับเก็บกักน้ำสะอาดไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้

“หากภาคเอกชน และบริษัทต่างๆ ต้องการทำโครงการ CSR ช่วยเหลือสังคม การสนับสนุนโครงการปั้นโอ่งดินก็ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อชาวบ้านอย่างยั่งยืน”

พ.อ.อัศม์พงษ์ นิลพันธุ์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 32 กองกำลังผาเมือง กล่าวว่า รัฐบาล และกองทัพบกให้ความสำคัญต่อปัญหาภัยแล้งที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ามาก โดยในส่วนของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 32 กองกำลังผาเมือง ได้สอนชาวบ้านปั้นโอ่งดินในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.สองแคว อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งช้าง และ อ.เชียงกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่แนวชายแดน มีชุมชน 147 หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ธ.ก.ส.จังหวัดน่าน ได้รับความร่วมมือจากทางอำเภอ และ อบต.ทุกแห่ง ที่จะสนับสนุนการทำแบบโอ่งด้วยโครงเหล็กเส้น เพื่อให้ชาวบ้านได้ยืมไปใช้ขึ้นแบบปั้นโอ่งดิน ทำให้ชาวบ้านสะดวกมากยิ่งขึ้น ขณะที่ทางทหารพราน จะเป็นวิทยากรสอนชาวบ้านจนสามารถมีโอ่งไว้ใช้ในครัวเรือนได้กับมือตัวเอง และยังอาจต่อยอดกลายเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังจะมีการใช้เป็น “โอ่งสามัคคี” โดยหมู่บ้านไหนที่ชาวบ้านมีความขุ่นเคืองใจ มีข้อพิพาทกันจะให้คู่กรณีมาปั้นโอ่งดินด้วยกัน เนื่องจากช่วงเวลาที่ปั้นโอ่งดิน จะทำให้ต้องได้พูดคุยช่วยเหลือกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ความสามัคคีปรองดอง แล้วนำโอ่งดินที่ร่วมกันปั้นไปมอบให้แก่วัด ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน หรือเป็นของสาธารณประโยชน์ให้แก่หมู่บ้านต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น