กาฬสินธุ์-โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จัดโครงการผ่าตัดหู และตรวจรักษาฟื้นฟูผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ที่ห้องประชุมเปรื่อง อนุชวานิช โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พล.ต.รศ.กรีฑา ม่วงทอง ประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดโครงการผ่าตัดหู และตรวจรักษาฟื้นฟูผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จัดขึ้น เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคทางหู และการรักษาหูแก่ประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร และต่างจังหวัด ได้มีโอกาสตรวจการได้ยิน รับเครื่องช่วยฟัง และผ่าตัดหู โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โดยมี พ.อ.อภิชาต สุวาส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จังหวัดร้อยเอ็ด พล.ต.ชาญชัย ติกขปัญโญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสุรนารีแพทย์ใหญ่ทัพภาค 2 นายแพทย์กมล แพร่ประภา รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ และหัวหน้ากลุ่มงานโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยคณะแพทย์พยาบาลเข้าร่วม
พล.ต.รศ.กรีฑา ม่วงทอง ประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดโครงการดังกล่าวเป็นความคิดริเริ่มของกองโสต ศอ นาสิกกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่เล็งเห็นว่าผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางการได้ยินยังมีจำนวนมากในประเทศไทย โดยเฉพาะต่างจังหวัด ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในด้านนี้ได้ จึงได้จัดโครงการหน่วยแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจาก 5 หน่วยงาน คือ กองโสต ศอ นาสิกกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มูลนิธิหู คอ จมูก ชนบท โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และโรงพยาบาลกาฬสินธุ์
โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการนี้เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคทางหู และการรักษาหู แก่ประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร และต่างจังหวัดได้มีโอกาสตรวจการได้ยิน รับเครื่องช่วยฟัง และผ่าตัดหู โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนั้น ยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้เรื่องโรคทางหู และตรวจคัดกรองผู้ป่วยทางการได้ยิน พร้อมใส่เครื่องช่วยฟัง นอกจากนั้น คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการผ่าตัดผู้ป่วยที่มีความบกพร่องเรื่องการนำเสียง โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการที่มีความต้องการตรวจการได้ยิน และใส่เครื่องช่วยฟัง จำนวน 59 ราย และผู้ป่วยที่มีความต้องการผ่าตัดหู จำนวน 9 ราย