อ.พญ.กนกรัตน์ สุวรรณสิทธิ์
ผศ.พญ.สุวัจนา อธิภาส
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
กลไกการได้ยิน เริ่มจากใบหูและช่องหูกักเสียง ส่งเสียงผ่านไปช่องหูชั้นกลาง เกิดการขยายเสียงหลังจากนั้น เสียงจะถูกส่งต่อไปยังหูชั้นในและไปแปลผลที่สมองโดยผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 8 ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการได้ยินชนิดประสาทหูเสื่อม จะเกิดความผิดปกติตั้งแต่หูชั้นในเป็นต้นไป
ประสาทหูเทียม เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่แทนหูชั้นใน โดยอุปกรณ์จะรับสัญญาณเสียงจากสิ่งแวดล้อมแล้วแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 8 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน และส่งสัญญาณไปแปลผลที่สมอง
ในปัจจุบันประสาทหูเทียมเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูงหลายแสนถึงหนึ่งล้านบาทต่อชุด ส่วนประกอบของประสาทหูเทียมประกอบไปด้วยสองส่วนหลัก คือ อุปกรณ์ภายนอกเป็นเครื่องรับสัญญาณ ประกอบด้วย ไมโครโฟน และ อุปกรณ์ประมวลสัญญาณ อุปกรณ์ภายในเป็นเครื่องแปลงสัญญาณ ประกอบด้วย ตัวรับสัญญาณและสายสัญญาณ ซึ่งต้องผ่าตัดฝังในหูชั้นใน
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดในการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม คือ
- อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
- สูญเสียการได้ยินทั้งสองข้างระดับรุนแรงระดับ การได้ยินมากกว่า 80 เดซิเบล และใช้เครื่องช่วยฟังแล้วไม่ได้ผล ไม่มีโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด
- มีสุขภาพจิตและสติปัญญาดีพอที่จะสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพได้
- ต้องสามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินหลังการผ่าตัดและติดตามผลเป็นระยะๆ ได้
- มีศักยภาพที่จะดูแล บำรุงรักษาอุปกรณ์ประสาทหูเทียมได้
ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อความสำเร็จจากการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เช่น ในผู้ป่วยเด็กที่ไม่เคยมีพัฒนาการทางภาษามาก่อน หากผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเมื่ออายุมากกว่า 4 ปี อาจได้ผลไม่ดี, สาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน, อายุที่เริ่มสูญเสียการได้ยิน, ระยะเวลาการสูญเสียการได้ยินและการฟื้นฟูการได้ยินในอดีต เป็นต้น ดังนั้น เกณฑ์ดังกล่าวมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งนี้ ความเหมาะสมของการผ่าตัดรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ผู้ป่วยที่ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมต้องได้รับการประเมินก่อนผ่าตัด ดังนี้
- ตรวจร่างกาย
- ประเมินระดับการได้ยินและการใช้เครื่องช่วยฟัง
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์และตรวจเลือด
- ประเมินภาวะทางจิต และสติปัญญาหรือพัฒนาการในเด็ก
- ประเมินความพร้อมของครอบครัวที่จะดูแลและติดตามการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพภายหลังการผ่าตัด
ผลสำเร็จและการฟื้นฟูหลังการผ่าตัด
การได้ยินในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม จะไม่เหมือนการได้ยินปกติ ผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และฝึกฝนจึงจะสามารถฟัง แปลผล และสื่อสารได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากครอบครัว และบุคลากรหลายด้าน ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ นักแก้ไขการพูด ครูการศึกษาพิเศษ หรือ ครูที่โรงเรียน เพื่อน ที่ต้องเอาใจใส่ พูดคุยกระตุ้นเพื่อให้ได้ฝึกฟังและพูดตลอดเวลา
จะรู้ได้อย่างไรว่าบุตรหลานของเรามีความบกพร่องทางการได้ยิน
โดยทั่วไปสามารถประเมินจากพฤติกรรม การสื่อสาร หรือการเรียน เช่น เด็กเล็กไม่สะดุ้งหรือตกใจเมื่อได้ยินเสียงดัง หรือ ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก ไม่หันตามเสียง, อายุมากกว่า 1 ปี แต่ยังไม่เริ่มพูดคำที่มีความหมาย, มีปัญหาด้านภาษาและพัฒนาการ เช่น พัฒนาการทั่วไปช้า พูดไม่ชัด, มีปัญหาในการสื่อสาร เช่น ดูไม่ตั้งใจหรือไม่สนใจโต้ตอบ เรียกแล้วนิ่งเฉยอย่างสม่ำเสมอ, ไม่ทำตามคำสั่งหรือปฏิบัติไม่ตรงตามสั่ง อาจถามคำถามซ้ำๆ หรือ ดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ แล้วเปิดเสียงดังกว่าปกติ เป็นต้น นอกจากนี้ บางครั้งผู้ป่วยอาจมีปัญหาด้านการเรียนหรือไม่เข้าสังคม หากท่านผู้ปกครองหรือคุณครูสงสัยว่าเด็กอาจมีปัญหาการได้ยิน แนะนำให้พามาตรวจ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
//////
กิจกรรมดี ๆ ที่ศิริราช
#จัดงานวันไตโลก “อ้วนกลม...ระทมไต” ในวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2560 เวลา 08.30 - 15.00 น. ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช บริการตรวจคัดกรองโรคไตและปัจจัยเสี่ยง เสวนาให้ความรู้พร้อมไขข้อข้องใจ ขอเชิญผู้สนใจร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามเพิ่มเติม สาขาวิชาวักกะวิทยา โทร. 0 2419 8383