ศูนย์ข่าวศรีราชา- กรมเจ้าท่า ดันโครงการท่าเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากอ่าวไทยตอนบน สนองแผนพัฒนาระบบขนส่งและการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภาคตะวันออกสู่ตะวันตก จัดประชุมชี้แจงโครงการร่วมภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน เสนอ 4 ทางเลือกท่าเรือพื้นที่จังหวัดชลบุรีพิจารณาความเหมาะสม
วันนี้ (24 ส.ค.) ที่โรงแรมทาวน์ อิน ทาวน์ พัทยา จ.ชลบุรี นายภิมุข ประยูรพรหม ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงโครงการศึกษาความเหมาะสมเส้นทาง East-West Ferry เชื่อมโยงระบบการขนส่งและการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อเพิ่มศักยภาพท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า เพื่อสนับสนุนด่านชายแดนสิงขรเชื่อมโยงระบบการส่งสินค้าและการท่องเที่ยว โดยมีตัวแทนจากส่วนราชการของจังหวัดชลบุรี อำเภอบางละมุง ศรีราชา บางพระ เมืองพัทยา สัตหีบ ผู้นำชุมชน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และผู้ที่สนใจเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมเส้นทาง East-West Ferry เชื่อมโยงระบบการขนส่งและการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า สนับสนุนด่านชายแดนสิงขรเชื่อมโยงระบบการส่งสินค้าและการท่องเที่ยว เป็นโครงการต่อเนื่องที่กรมเจ้าท่า รับมาดำเนินการตามแผนของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนการเดินทาง และขนส่งจากทางบกมาเป็นทางน้ำ เพื่อลดปัญหาความแออัดของการจราจร และความสูญเสียเรื่องของพลังงาน
อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาเรื่องของการขนส่งและการท่องเที่ยว ที่เชื่อมโยงระหว่างภาคตะวันออกและตะวันตกในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน โดยทำการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อเข้ามาศึกษาแผนในการพัฒนาการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางน้ำโดยเรือเฟอร์รี่ในเส้นทางระหว่าง พัทยา ชะอำ และหัวหิน ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ลดปัญหา และเพิ่มมูลค่าจากการขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยวได้อย่างมีปะสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาความเหมาะสมในเรื่องของเส้นทางเชื่อมโยง พื้นที่ทางเลือกในการจัดทำท่าเรือ ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาในอนาคต
ทั้งนี้ สำหรับการจัดประชุมชี้แจงดังกล่าวได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ครั้ง ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชลบุรี โดยมีการชี้แจง และสอบถามความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะในการจัดทำโครงการ รวมทั้งพื้นที่ทางเลือกในการจัดทำท่าเรือเฟอร์รี่
ในส่วนของพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญได้กำหนดไว้ จำนวน 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ ท่าเรือเกาะลอย อ.ศรีราชา ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือท่องเที่ยวเมืองพัทยา และท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมข้อมูล และทำผลสรุปให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 300 วัน ก่อนเสนอแผนต่อผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป