xs
xsm
sm
md
lg

“เชียงราย” รวมพลหมอเมืองครั้งใหญ่ โชว์สารพัดศาสตร์ฟื้น “ใจ-กาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เครือข่ายสภาหมอเมืองฯ ผนึกกำลังสมัชชาสุขภาพเชียงราย เปิด “ข่วงผญาหมอเมืองล้านนาเจียงฮาย” โชว์สารพัดศาสตร์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ตั้งแต่การฮ้องขวัญ ส่งเคราะห์ ดูเมื่อดูดวง รักษากำลังใจ ยันการรักษาด้วยยาเมือง ตอกเส้น ย่ำข่าง

รายงานข่าวแจ้งว่า สภาหมอเมืองล้านนาเจียงฮาย และวัดหัวฝาย รวมทั้งหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น สมัชชาสุขภาพ จ.เชียงราย ฯลฯ จัดกิจกรรม “ข่วงผญาหมอเมืองล้านนาเจียงฮาย” ณ วัดหัวฝาย ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย สุดสัปดาห์นี้ โดยมี นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ นายอำเภอพาน จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิด

ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการแสดงภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการดูแล และรักษาสุขภาพด้วยภูมิปัญญาล้านนาทุกด้าน ตั้งแต่พิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การฮ้องขวัญ ส่งเคราะห์ ดูเมื่อดูดวง รวมถึงการรักษากายบำบัด เช่น นวด ตอกเส้น ประคบ ย่ำขาง ซึ่งเป็นวิธีเก่าแก่ด้วยการใช้เท้า สมุนไพรบำบัด เช่น การปรุงยาต้ม ยาแก้พิษ อบสมุนไพร ลูกประคบ ตลอดจนการแนะนำด้านอาหารให้ตรงกับธาตุ และไม่แสลงโรค เพื่อให้มีสุขภาพดี

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนาเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาหมอเมืองล้านนา การร่วมกันสกัดตัวยาสมุนไพร การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อภูมิปัญญาพื้นบ้าน

ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เข้าไปดู และหาซื้อ รวมทั้งนำภูมิปัญญาของตนไปจัดแสดง ขณะที่ทางสถานศึกษาในพื้นที่ก็นำนักเรียนเข้าไปศึกษาดูงานด้วย

ทั้งนี้ ตลอดทั้งงานมีหม้อสมุนไพรที่กลุ่มหมอเมืองนำไปต้มพร้อมอธิบายสรรพคุณ และให้ทดลองชิมได้ตลอดด้วย เช่น ยาต้มคลายเส้นแก้ปวดเมื่อย ยาแก้รีดสีดวงทวาร ยาแก้โรคเกาต์ ยาแก้พิษ โดยมีสมุนไพรพื้นเมืองที่เรียกตามภาษาล้านนาหลากหลาย เช่น เครือแดง เครือก้องแกบ มะตันขอ

พระครูปิยวรรณ พิพัฒน์ เจ้าคณะ ต.สันกลาง และเจ้าอาวาสวัดหัวฝาย กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาล้านนาที่สืบทอดกันมาช้านานเอาไว้ เพราะภูมิปัญญาเหล่านี้มีอยู่อย่างมากมาย และทรงคุณค่ายิ่ง มีบันทึกประวัติประสัทธิภาพดูแลรักษาสุขภาพ และรักษาโรคได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในบางโรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่ได้ แต่แพทย์แผนไทยโบราณสามารถรักษาได้

แต่ปัจจุบันความรู้เรื่องเหล่านี้กลับค่อยๆ เลือนหายไป และผู้ที่เกี่ยวข้องมักจะอ้างว่าเป็นเรื่องโบราณ หรือไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) ทั้งๆ ที่ควรจะหันมาอนุรักษ์เพื่อให้ได้รับการยอมรับ และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีกมากกว่า

นายบุญทา อุปเสน ประธานชมรมหมอเมือง ต.ป่าหุ่ง อ.พาน กล่าวว่า ศาสตร์การดูแลรักษาหลายอย่างสืบทอดกันมาตั้งแต่เรื่องพิธีกรรม ซึ่งใช้เพื่อให้มีกำลังใจ ส่วนการรักษาก็จะหลากหลาย เช่น การย่ำขาง ซึ่งผู้รักษาต้องได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี จะใช้เท้าเหยียบในน้ำมันเลียงผา และโลหะที่ร้อนแล้วเหยียบลงไปตามร่างกายของผู้ป่วยที่ปวดเมื่อย เป็นอัมพฤตอัมพาต

“บางคนเเป็นเรื้อรัง และรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันแต่ไม่หายก็มารักษา นอกจากนี้ ยังมีศาสตร์อื่นๆ ที่ล้วนใช้ความชำนาญที่ฝึกมาแล้วอย่างดี เช่น ตอกเส้นกรณีที่เส้นที่ต้องการคลายอยู่ลึก แหกหรือขูดด้วยโลหะเพื่อแก้พิษ เป็นต้น”

ด้าน นายบุญนาค จอมธรรม ประธานชมรมน้อยหนานเวียงป่าเป้า กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิปัญญาเหล่านี้เริ่มสูญหาย ดังนั้น จึงได้เข้ามาร่วมกิจกรรม โดยพยายามดูเรื่องบรรจุภัณฑ์ของสมุนไพรชนิดต่างๆ เพื่อจะได้จัดทำให้มีคุณภาพดี และดูดีน่าซื้อ หรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น