xs
xsm
sm
md
lg

เพชรบุรีเปิดเวทีฟังความเห็นศึกษาความเหมาะสมเพิ่มศักยภาพท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าสนับสนุน “ด่านชายแดนสิงขร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี - รองผู้ว่าฯ เพชรบุรี เปิดประชุมชี้แจงโครงการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อเพิ่มศักยภาพท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าเพื่อสนับสนุนด่านชายแดนสิงขร ไทย-พม่า ด้านประจวบคีรีขันธ์ เชื่อมโยงระบบการขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยวเส้นทาง EAST-WEST FERRY

วันนี้ (19 ส.ค.) ที่ห้องประชุมปะการัง ชั้น 3 โรงแรมลองบีชชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี พ.ต.ท.หม่อมหลวงกิติบดี ประวิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงโครงการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อเพิ่มศักยภาพท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าเพื่อสนับสนุนด่านชายแดนเชื่อมโยงระบบการขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยวเส้นทาง EAST-WEST FERRY

โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ เย็นอ่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วม นายจิระศักดิ์ จริยโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม นายสายันต์ บุญพิทักษ์ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยตัวแทนผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการสร้างโครงการเส้นทางการเดินเรือขนส่งสินค้า และเรือโดยสารข้ามฟากเฟอร์รี่ เข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

พ.ต.ท.หม่อมหลวงกิติบดี ประวิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า เนื่องด้วยแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ โดยส่งเสริมการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งไปสู่ทางลำน้ำ (Inland waterway) และบริการเรือชายฝั่งเพื่อการประหยัดพลังงาน จากนโยบายเปิดด่านสิงขร ชายแดนไทย-พม่า เป็นจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ที่จุดแคบที่สุดของประเทศ เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการค้าระหว่างประเทศตะวันตก และประเทศตะวันออก และกำลังยกระดับจุดผ่อนปรนสิงขร เป็นด่านถาวร จึงมีความจำเป็นที่จะส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนด่านสิงขรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุน และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าประมงเพื่อการส่งออกของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง กำลังประสบปัญหาจากราคาน้ำมันที่สูง และผันผวน จะต้องมีการพัฒนาลอจิสติกส์ทางเลือกใหม่ในการขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยวแทนการขนส่งทางบก กล่าวคือ การลงทุนเรือเฟอร์รี่ (เรือขนผู้โดยสารและรถข้ามฟาก) เชื่อมโยง 2 จุดยุทธศาสตร์ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน

ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบุรี (อ.ชะอำ อ.เมือง อ.ท่ายาง อ.บ้านแหลม) และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อ.หัวหิน อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด) ซึ่งเป็นแหล่อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารพื้นที่หลักของไทยกับท่าเรือน้ำลึกที่มีศักยภาพสูง ณ แหลมฉบัง/ศรีราชา/พัทยา ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นทางเลือกที่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างภาค ทำให้เกิดการขยายตัวธุรกิจท่องเที่ยว และการลงทุนใหม่

สำหรับพื้นที่ทางเลือกฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย (WEST) มีพื้นที่ทางเลือก 4 แห่ง ประกอบด้วย พื้นที่ทางเลือกที่ W-1 พื้นที่ปากร่องน้ำบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด อยู่ติดหาดชะอำทางด้านเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักแห่งหนึ่งของชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนด้านตะวันตก สามารถเข้าถึงด้วยการเดินเท้าการเข้าสู่พื้นที่จากถนนเพชรเกษม ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ห่างจากสถานีรถไฟชะอำ ประมาณ 5 กิโลเมตร พื้นที่ทางเลือกที่ W-2 พื้นที่วัดบางไทรย้อย อยู่ห่างจากหาดชะอำประมาณ 9.5 กิโลเมตร ห่างจากหัวหินประมาณ 16 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินหัวหินประมาณ 10 กิโลเมตร และห่างจากสถานีรถไฟห้วยทรายเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร

พื้นที่ทางเลือกที่ W-3 ท่าเทียบเรือประมงหัวหิน อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การสะพานปลา ใช้รองรับเรือประมงเพื่อจอด และขนถ่ายสัตว์น้ำ ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรมเนื่องจากเกิดความเสียหายในระดับโครงสร้าง มีระยะทางห่างจากสนามบินหัวหินประมาณ 6 กิโลเมตร และห่างจากสถานีรถไฟหัวหินประมาณ 1.2 กิโลเมตร

และพื้นที่ทางเลือกที่ W-4 บริเวณปากน้ำปราณบุรี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ประมาณ 765.37 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบเชิงเขาลาดเอียงจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกสู่ฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยมีแม่น้ำปราณบุรีเป็นแม่น้ำสายหลัก มีความยาวจากเทือกเขาระหว่างเทือกเขาตะนาวศรี และทะเลอ่าวไทย มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร โดยระหว่างที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมรับฟังได้เสนอข้อคิดเห็นซึ่งมีทั้งผู้แสดงความเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยส่วนใหญ่เทน้ำหนักไปในทางที่ไม่เห็นด้วยมากกว่าเห็นด้วยโดยมีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 2.ไม่คุ้มทุนด้านเศรษฐกิจ และ 3.พฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป

พ.ต.ท.หม่อมหลวงกิติบดี ประวิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เผยอีกว่า สำหรับประโยชน์ของโครงการดังกล่าวจะเป็นการเชื่อมต่อโดยจังหวัดไหนสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าก็จะได้เปรียบ ทั้งเรื่องของนักท่องเที่ยว คนที่จะเดินทางไปในอีกพื้นที่หนึ่งก็จะสะดวกยิ่งขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือ เศรษฐกิจที่ดีกว่า จึงคิดว่าโครงการนี้น่าจะเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเพชรบุรี อีกทั้งจังหวัดเพชรบุรี เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นหากนักท่องเที่ยวจากฝั่งตะวันออกมาท่องเที่ยวฝั่งตะวันตก ก็สามารถเที่ยวได้ทั้งภูเขา น้ำตก ทะเล ซึ่งเป็นจุดเด่นของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งคณะกรรมการอาจจะเลือกจังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นพื้นที่เป้าหมาย

น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ อดีต ส.ว.เพชรบุรี ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในผู้ที่ร่วมความคิดเห็นในครั้งนี้ ซึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการสร้างท่าเทียบเรือขึ้นมาใหม่ในพื้นที่วัดบางไทรย้อย อ.ชะอำ เพราะหวั่นเกิดผลกระทบต่อชายฝั่งที่จะต้องหายไปหากมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่จะมากีดขวางทางน้ำ และทำให้ทิศทางของน้ำทะเลเปลี่ยนไป ทั้งนี้ ได้แนะนำให้บริษัทที่ว่าจ้างไปศึกษาความเป็นไปได้ของท่าเทียบเรือที่มีอยู่เดิมในพื้นที่อำเภอหัวหิน ซึ่งอยากให้พัฒนาในพื้นที่ที่มีอยู่แล้วมากกว่าจะเปิดพื้นที่ใหม่แล้วเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมา

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เข้าข่ายประเภทโครงการ หรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2555 เพื่อนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นชอบก่อนทำการสร้างต่อไป โดยมีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วย บริษัทเซ้าท์อี๊สท์เอเซียเทคโนโลยี่ จำกัด, บริษัท ร้อจ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด, บริษัทไทยพลัส เทคโนโลยีพลัส จำกัด, บริษัทไอเอ็มเอส จำกัด และสถาบันการขนส่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (บริษัทซีเทคซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจาก สผ.เป็นผู้มีสิทธิรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ทำการศึกษา และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการในครั้งนี้





กำลังโหลดความคิดเห็น