xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ นำเถ้าแก่ลำปางลุยเปิดตลาดเซรามิกถึงรัฐกะเหรี่ยง-รัฐมอญ พม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - ผู้ว่าฯ เมืองรถม้านำเถ้าแก่เซรามิกลำปาง-หอการค้าฯ ลุยเปิดตลาดเซรามิก ถึงรัฐกะเหรี่ยง-รัฐมอญ พม่า

วันนี้ (25 ก.ค.) นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ได้นำคณะตัวแทนของสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง, หอการค้าจังหวัดลำปาง, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง เดินทางสำรวจและเชื่อมโยงธุรกิจการค้าชายแดน ณ เมืองปาอัน รัฐกะเหรี่ยง-เมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ พม่า ผ่านการประสานงานของหอการค้าฯ ตาก

นายสามารถระบุว่า จากการนำสินค้าเซรามิกของจังหวัดลำปางมาเปิดตัว และรับฟังข้อมูลผู้ประกอบการพม่า แล้วพบว่านอกจากสินค้าเซรามิกแล้ว ทั้งสองรัฐยังคงต้องการสินค้าอื่นๆ อีกจำนวนมากเนื่องจากกำลังเปิดประเทศ และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา หากเข้ามาเปิดตลาดก่อนก็จะเป็นการได้เปรียบ

ซึ่งเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนไทย-พม่า ผ่านด่านถาวรแม่สอด-เมียวดี กับเมืองกอกาเร็ก ของรัฐมอญ สายใหม่สร้างเสร็จเมื่อ 31 ส.ค. 58 ที่ผ่านมา ทำให้การเดินทางจากชายแดนอย่างจังหวัดเมียวดีกับพื้นที่เมืองชั้นในสะดวกเป็นอย่างมาก และประหยัดเวลาด้วยระยะทางเพียง 45 กิโลเมตรเท่านั้น

ส่วนสินค้าเซรามิกในพม่าเองก็มีการผลิต แต่ก็ยังขาดเทคโนโลยี ความสวยงามประณีต และความหลากหลายในพื้นที่ ยังต้องการสินค้าที่ตอบสนองความต้องการในด้านการใช้สอยอีกมาก การมาเปิดตัวในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมเซรามิกลำปาง เพราะที่ผ่านมาภาคธุรกิจในทั้ง 2 รัฐของพม่าไม่เคยทราบมาก่อนว่าลำปางมีโรงงานเซรามิกมากกว่า 300 โรงงาน เมื่อเห็นตัวอย่างสินค้าจึงสนใจกันมาก และจะเดินทางมาดูแหล่งผลิตกันในเดือนสิงหาคม 59 นี้ด้วย

นอกจากนี้ พม่ายังต้องการให้ไทยเข้าลงทุนในประเทศอีกมาก โดยพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงบางธุรกิจสามารถให้ชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนได้ 100% และซื้อดินได้อีกด้วย ส่วนรัฐมอญยังห้ามชาวต่างชาติซื้อที่ดิน แต่ด้านการลงทุนสามารถตกลงกันได้

นายสามารถบอกด้วยว่า ผู้ประกอบการทั้งในรัฐกะเหรี่ยง-รัฐมอญ ของพม่า ย้ำว่าพม่ากับไทยถือเป็นพี่น้องกัน หากสินค้าของไทยมีคุณภาพ หลากหลาย ราคาสู้จีนได้ ประกอบกับการขนส่งรวดเร็วกว่าจีน ทางพม่าจะให้การสนับสนุนสินค้าไทยอย่างแน่นอน ส่วนสิ่งที่ถือเป็นจุดแข็งของประเทศพม่าคือ ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำ พื้นที่ด้านการเกษตร การรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมที่ถือว่ายังคงไม่ถูกทำลาย สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ความเป็นอยู่ที่ยังคงแบบพอเพียงเป็นส่วนมาก






กำลังโหลดความคิดเห็น