บุรีรัมย์ - นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจพิสูจน์วัตถุโบราณ โซ่ตรวน ศาสตราวุธ และเครื่องมือเกษตร ที่ขุดพบในสวนชาวบ้าน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เกือบ 300 ชิ้น จากหลักฐานบางชิ้นสันนิษฐานอาจเป็นชุมชนโบราณ ที่มีทั้งทหาร ชนชั้นปกครอง ช่าง และเกษตรกร ไม่น่าจะเป็นแดนประหารหรือคุกสมัยเก่า เตรียมส่งมอบจัดเก็บที่พิพิธภัณฑ์เป็นมรดกของชาติ
วันนี้ (18 ส.ค.) นายวีระชาติ พงค์ชนะ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 12 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบวัตถุโบราณ ทั้งโซ่ตรวน ศาสตราวุธ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และเครื่องมือการเกษตร ที่มีการขุดพบบริเวณสวนของนายสุพล และนางสุวรรณา เจียมผักแว่น สองสามีภรรยาชาวบ้านบ้านเจริญสุข ม.11 บ้านหนองเจริญสุข ต.ชุมแสง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เกือบ 300 ชิ้น
จากการตรวจสอบวัตถุโบราณที่ขุดพบดังกล่าว มีทั้งที่ทำขึ้นจากเหล็ก และโลหะ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสียม เคียว กรรไกรใช้สำหรับตัดหมาก ใบตอง และยังคงใช้กันในชีวิตประจำวันปัจจุบัน แต่บางอย่างใช้สำหรับทำเป็นอาวุธในการสู้รบหรือป้องกัน เช่น หอก ดาบ ธนู และยังมีสิ่ว ลิ่ม ที่ใช้เกี่ยวกับงานแกะสลักหรือตอกสกัดหินสำหรับใช้ในการก่อสร้างปราสาทต่างๆ
สำหรับรูปทรงของวัตถุบางชิ้นมีลักษณะพิเศษที่พบในสมัยโบราณ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นอะไร อยู่ในยุคสมัยใดหรือมีอายุเก่าแก่มากน้อยเพียงไหน แต่จากรูปทรงของวัตถุบางชิ้นคล้ายกับศิลปะเขมร
ทั้งนี้ จากการสันนิษฐานเบื้องต้นจากหลักฐานของวัตถุโบราณที่ขุดพบในครั้งนี้บ่งชี้ได้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้อาจเป็นชุมชนโบราณ ที่มีทั้งทหาร ชนชั้นปกครอง ช่าง เกษตรกร และชาวนา ไม่น่าจะเป็นแดนประหารหรือคุกสมัยเก่าตามที่ชาวบ้านสันนิษฐาน
ส่วนโซ่ตรวนที่พบใช้ได้ทั้งสำหรับคนและสัตว์ ซึ่งต้องมีการตรวจพิสูจน์จากหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ เพื่อให้แน่ชัดอีกครั้ง สำหรับวัตถุที่ขุดพบอยู่ในลักษณะปนกันซึ่งอาจจะเป็นการสะสม หรืออาจนำมาจากพื้นที่อื่นแล้วมาฝังรวมกันไว้ก็เป็นไปได้
การลงพื้นที่ตรวจสอบวัตถุโบราณที่บ้านหนองเจริญสุขในครั้งนี้ นายเพชร สุพพัตกุล นายอำเภอนางรอง ได้มอบหมายให้นายโชคไชย สว่างรัตน์ ปลัดอำเภอ พร้อมด้วยนายอัษฎาวุธ เกตุผักแว่น กำนันตำบลชุมแสง และนายสละ ทิพย์อักษร ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองเจริญสุข ม.11 ร่วมสังเกตการณ์และรับฟังรายละเอียดในการตรวจพิสูจน์วัตถุโบราณดังกล่าวด้วย ท่ามกลางความสนใจของชาวบ้าน เด็ก และเยาวชนที่ทราบข่าวต่างพากันมามุงดูวัตถุโบราณดังกล่าวเป็นจำนวนมากด้วย
นายวีระชาติ พงค์ชนะ นักโบราณคดี กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วจะเสนอรายงานไปยังอธิบดีกรมศิลปากรเพื่อดำเนินการทำบันทึกวัตถุโบราณที่ขุดพบแต่ละชิ้นไว้เป็นหลักฐาน ก่อนจะทำเรื่องส่งมอบเพื่อนำไปจัดเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย อ.พิมา จ.นครราชสีมา เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้เป็นมรดกของชาติ หรือจัดแสดงให้ประชาชน เยาวชน ได้ศึกษาประวัติความเป็นมาต่อไป
แต่ในเบื้องต้นวัตถุโบราณดังกล่าวได้ให้เก็บรักษาไว้ที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุดคุ้มครองหมู่บ้านช่วยกันดูแลรักษาไว้ก่อน จนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาดำเนินการจดบันทึกทำทะเบียนและส่งมอบตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน