น่าน - สถานการณ์น้ำท่วมเขตเมืองน่านเริ่มคลี่คลาย ยกเว้นชุมชนริมน้ำ-พื้นที่ต่ำ “ภูมินทร์-ท่าลี่-พวงพยอม-พญาภู” รวมกว่า 500 หลังคาเรือนยังถูกน้ำท่วมขังลึกกว่า 2 เมตร ชาวบ้านต้องทนกันอีกคืน ขณะที่อำเภอเวียงสาพื้นที่รับน้ำ ล่าสุด 7 ตำบล 3 พันกว่าหลังคาเรือนเริ่มจม
วันนี้ (16 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คืนนี้ชาวบ้านในชุมชนภูมินทร์ ท่าลี่ พวงพยอม และพญาภู ซึ่งเป็นชุมชนในเขตเทศบาลเมืองน่านที่ติดริมแม่น้ำน่าน พื้นที่ลุ่มต่ำ รวมกว่า 500 ครัวเรือน ยังต้องถูกน้ำท่วมขัง ซึ่งในบางจุดถูกน้ำท่วมลึกถึง 2 เมตร ชาวบ้านต้องอพยพไปอาศัยอยู่บนชั้นสอง และบางหลังคาเรือนซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียว ต้องออกไปอาศัยเพื่อนบ้านแทน และรถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้ ต้องใช้เรือเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กำลังพลจากหน่วยทหารมณฑลทหารบกที่ 38 ได้สับเปลี่ยนกันมาพายเรือเพื่อรับส่งชาวบ้านที่ต้องการออกไปหาซื้ออาหาร น้ำดื่ม และของใช้จำเป็น รวมทั้งตระเวนพายเรือเพื่อนำอาหาร-น้ำดื่มแจกจ่ายชาวบ้านที่ไม่สามารถออกมาภายนอกบ้านได้ รวมถึงสำรวจความต้องการของชาวบ้านด้วยเพื่อประสานขอความช่วยเหลือต่อไป
ขณะที่ทางชุมชนได้ตั้งเต็นท์จุดประสานงานให้หัวหน้าบ้านมานำอาหาร-น้ำดื่ม ไปแจกจ่ายเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึง ในค่ำคืนนี้ทั้ง 4 ชุมชนจะไม่มีไฟฟ้า และน้ำประปาใช้ แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านได้เตรียมพร้อมเรื่องของเทียนไข-ไฟฉาย ไว้แล้ว
ขณะที่มวลน้ำที่เริ่มลดระดับลงชั่วโมงละ 8 เซนติเมตรจากตัวเมืองน่านจะไหลไปทางพื้นที่อำเภอเวียงสา ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำต่อ ขณะนี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลเวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน ต่างระดมกำลังช่วยกันเร่งตักทรายใส่กระสอบเพื่อนำไปกั้นตามแนวแม่น้ำน่าน รับมือมวลน้ำที่จะไหลมาจากทางอำเภอเมือง
เพราะแม้ว่าทางเทศบาลตำบลเวียงสาจะนำดินมาถมสูงถึง 2 เมตรเพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าเขตเทศบาลฯ ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ มีทั้งตลาด ร้านค้าต่างๆ แล้วก็ตาม แต่อาจจะกั้นไว้ไม่อยู่เพราะระดับน้ำยังเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดกระแสน้ำได้ไหลเข้าท่วม 7 ตำบลของอำเภอเวียงสา ได้แก่ ตำบลตาลชุม, กลางเวียง, น้ำมวบ, ส้านนาหนองใหม่, ไหล่น่าน และส้าน บ้านเรือนกว่า 3 พันหลังคาเรือนถูกน้ำท่วมระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตร-1 เมตร และบางพื้นที่โดยเฉพาะหมู่บ้านติดริมน้ำระดับน้ำสูง 1-2 เมตร ชาวบ้านต้องเก็บของขึ้นอยู่ชั้นสองของบ้าน และใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางเข้าออก
ขณะที่ในพื้นที่อำเภอท่าวังผาระดับน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ และเขตอำเภอเมือง เริ่มคลี่คลาย โดยระดับน้ำในแม่น้ำน่านลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่จุดวัดระดับน้ำ N1 สะพานพัฒนาภาคเหนือ อ.เมืองน่าน เวลา 15.00 น. อยู่ที่ 7.30 เมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปลอดภัย น้ำที่ไหลเข้าท่วมในเขตเทศบาลเมืองน่านเริ่มแห้งแล้ว เหลือพื้นที่ต่ำบ้านบริเวณแยกหน้า ธ.ก.ส., ฟ้าธนิน, วิทยาลัยเทคนิคน่าน และชุมชนริมน้ำ อย่างบ้านดอนศรีเสริม, ท่าลี่, ภูมินทร์, พวงพยอม และบ้านดอนมูล ต.ดู่ใต้ ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ และพื้นที่อำเภอภูเพียง ที่ปากทางเข้าหมู่บ้านท่าล้อ, แสงดาว ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ รถยังไม่สามารถผ่านไปได้ ทางทหารได้นำรถบรรทุกมาไว้บริการช่วยเหลือประชาชนที่เดินทางออกมาซื้ออาหารและน้ำดื่ม
ด้านนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และนางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ นายกเหล่ากาชาดน่าน ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่-ภาคเอกชน นำน้ำดื่ม อาหาร เทียน พร้อมยาป้องกันโรคที่มากับน้ำ แจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ขณะที่ประชาชนซึ่งบ้านไม่ถูกน้ำท่วมก็ได้นำน้ำดื่ม และอาหารออกมาบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
อนึ่ง ผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดน่านที่มีการสรุปอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า มีความเสียหายในพื้นที่ 8 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เมืองน่าน อ.ปัว อ.ท่าวังผา อ.เวียงสา อ.ภูเพียง อ.บ่อเกลือ และ อ.แม่จริม มีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง และบางส่วน มีการอพยพ 5 หลังคาเรือนออกนอกพื้นที่ ราษฎรเดือดร้อน 3,105 ครัวเรือน 20 ตำบล 96 หมู่บ้าน
โดยมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดจมน้ำ เป็นชาย 1 ราย ที่อำเภอปัว พื้นที่ทำการเกษตรเสียหาย และมีน้ำท่วมขัง 3,467 ไร่ บ่อเลี้ยงปลา 2 บ่อ สัตว์เลี้ยง ได้แก่ หมู และไก่ อย่างละ 1 เล้า และวัวสูญหายไปกับน้ำไหลหลาก สิ่งสาธารณประโยชน์เสียหาย ฝาย 5 แห่ง พนังกั้นน้ำ 2 แห่ง ถนน 7 แห่ง ถนนทางเข้าหมู่บ้านทรุดตัว ถนนลาดยางภายในหมู่บ้านรถไม่สามารถผ่านได้ ต้นไม้ล้มหักขวางถนน น้ำเข้าหมู่บ้าน สะพานถูกตัดขาดสัญจรไม่ได้ คอสะพาน ฝายกั้นน้ำ และน้ำกัดเซาะตลิ่งพัง นอกจากนี้ มีโรงผลิตน้ำดื่ม และโรงสีข้าวได้รับผลกระทบ
ส่วนอีก 7 อำเภอนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการสำรวจ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ-ถนนหนทางที่เป็นดินโคลน และการเข้าถึงพื้นที่ยากลำบาก