xs
xsm
sm
md
lg

“สมเกียรติ-ไชยวัฒน์” ชี้ให้ความสำคัญ “คำถามพ่วง” ลงประชามติ รธน.-วัดใจเลือกใคร “พรรคการเมือง” หรือ “คสช.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์” อดีตแกนนำพันธมิตรฯ และ “ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์” อดีต รมว.อุตฯ ออกคำแถลงระบุการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญควรให้ความสำคัญกับ “ประเด็นคำถามเพิ่มเติม” มากกว่าตัว “ร่างรัฐธรรมนูญ” และใช้เป็นประเด็นออกเสียงว่า “ควรไว้วางใจใครระหว่างพรรคการเมือง กับ คสช.” โดยการออกเสียงที่อิสระ เป็นประชาธิปไตยทางตรงที่บริสุทธิ์และชอบธรรม

วันนี้ (29 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีต 1 ใน 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้โพสต์ข้อความพร้อมคำแถลงเรื่องการออกเสียงประชามติ วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ทางเฟซบุ๊ก ในชื่อบัญชี “Somkiat Pongpaiboon” โดยข้อความบางส่วนระบุว่า “ได้มีเพื่อนพ้องน้องพี่สอบถามมายังผมและพี่ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ หลายต่อหลายครั้งว่าร่างรัฐธรรมนูญจะเอาอย่างไร เราก็ปรึกษาหารือกันสามรอบแล้วสรุปว่า เราควรให้ความสำคัญกับ “ประเด็นคำถามเพิ่มเติม” มากกว่าตัว “ร่างรัฐธรรมนูญฯ” ใช้ประเด็นนี้ในการออกเสียงว่า “ควรจะไว้วางใจใคร?” ระหว่าง พรรคการเมืองกับ คสช. พี่น้องประชาชนต้องตอบเองนะครับ”

ส่วนรายละเอียดคำแถลง “เรื่องการออกเสียงประชามติ วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559” ระบุว่า ด้วยพี่น้องประชาชนจำนวนมากได้สอบถามว่าการออกเสียงประชามติควรจะออกเสียงเป็นเช่นใด เราได้ไตร่ตรองคิดแล้วคิดอีกหลายครั้งอย่างรอบคอบแล้ว ได้ข้อสรุปดังนี้

1. การออกเสียงประชามติครั้งนี้สำคัญมาก เพราะทั้งสถานการณ์วันนี้และในรอบสิบกว่าปีให้โอกาสคนไทยผู้มีสิทธิออกเสียง 51 ล้านคนไปออกเสียง “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ต่อ “ร่างรัฐธรรมนูญฯ” และ “ประเด็นคำถามเพิ่มเติม” ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจารึกไว้ว่าเราได้ใช้ “อำนาจอธิปไตยทางตรง” โดยอิสระแล้ว
นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์
2. ผลของประชามติจะสะท้อนความเป็นจริงบ่งบอกอนาคตอย่างดีของสังคมไทยว่าจะเป็นเช่นใด คนไทยต้องการก้าวไปทิศทางใด และชัดเจนที่สุดว่าเราพร้อมจะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์หรือไม่

3. ทัศนะเราเห็นว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่มีใครร่างแล้วจะถูกใจทุกคน คนไทยควรจะชั่งน้ำหนักดูแล้วออกเสียงประชามติ ในขณะที่เรากลับเห็นว่า “ประเด็นคำถามเพิ่มเติม” นั้น ในสถานการณ์เฉพาะหน้า 5 ปี มีความสำคัญและบ่งบอกทิศทางการเมืองของไทยมากกว่า หมายความว่า ต้องวางหลักการของประเทศให้ดีเสียก่อนแล้วจึงเลือกตั้ง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ดังนั้นจึงให้ความสำคัญต่อคำถามที่ว่าคนไทยไว้วางใจใครระหว่าง พรรคการเมือง หรือ คสช.

4. ในสถานการณ์สิบกว่าปีมานี้ เราผ่านความยุ่งยากโดยเฉพาะประเด็นการทุจริตโดยตรง และทุจริตเชิงนโยบายจากการใช้อำนาจของนักการเมือง รวมทั้งพฤติกรรมของนักการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราผ่านการชุมนุมครั้งใหญ่นับแสนนับล้านคน และยืดเยื้อยาวนานกว่าสองร้อยวันมาแล้ว ย่อมทำให้สังคมไทยต้องอดทนอดกลั้นในการรอคอย เฉลียวฉลาด และรอบคอบอย่างยิ่งในการลงประชามติ
คำแถลง “เรื่องการออกเสียงประชามติ วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559”
5. คำว่า “อำนาจอธิปไตยโดยตรง” ในวันออกเสียงประชามติหมายความว่า ใช้ประชาธิปไตยทางตรงของเราเอง โดยปราศจากแรงจูงใจอย่างอื่นเหมือนอดีต หรือภายใต้อิทธิพลใดๆ หรือความเชื่อต่อการชี้นำของบุคคลทั้งหลายที่แสดงออกมาในช่วงนี้ เพราะว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลเป็นการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ต้องการให้เรียบร้อยโดยไม่มีพวกพ้อง คำที่ต้องตอบด้วยตัวเอง คือ “ร่างรัฐธรรมนูญฯ” นี้จะทำเพื่อคนไทยทั้งชาติใช่หรือไม่? “ประเด็นคำถามเพิ่มเติม” นั้น ทำเพื่อประเทศชาติประชาชนใช่หรือไม่

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สังคมไทยจะถูกออกแบบโดยผลของการออกเสียงที่อิสระ เป็นประชาธิปไตยทางตรงที่บริสุทธิ์ และในที่สุดได้ประชามติเที่ยงธรรม และมีความชอบธรรมที่แท้จริง ด้วยความเคารอย่างสูง ลงชื่อ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2559

อนึ่ง สำหรับประเด็นคำถามเพิ่มเติมในการออกประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ของชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
กำลังโหลดความคิดเห็น